หลังจากไทยพีบีเอสออนไลน์นำเสนอกรณี “ศรีเทพ” บินโดรนไลดาร์ เพื่อสำรวจเมืองโบราณ ครั้งแรก "ศรีเทพ" ใช้ "โดรนไลดาร์" สำรวจเมืองโบราณครั้งแรก
และล่าสุด กรมศิลปากรไม่อนุญาตให้บินสำรวจในพื้นที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” นั้น สำรวจไลดาร์ “ศรีเทพ” สะดุด กรมศิลป์ฯ เบรกสแกนพื้นที่อุทยานฯ ศรีเทพ
วันนี้ (31 ม.ค.2565) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา ปรึกษาสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ ถึงสิ่งที่จะได้จากการบินโดรนไลดาร์ เพื่อสำรวจพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ครั้งนี้
สำรวจเพื่อรู้พื้นที่โบราณสถาน
ดร.พชรพร กล่าวว่า ความสำคัญของการสำรวจในวงกว้าง มาจากการที่เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณที่ใหญ่ในอันดับต้นๆ ของไทย และมีการกระจายตัวของโบราณสถาน นอกเขตเมืองโบราณ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ปัจจุบันค่อนข้างมาก ทำให้เราก็ยังไม่มีความเข้าใจภูมิทัศน์และขอบเขตของตัวเมืองโบราณจริงๆ ว่ามีขอบเขตการขยายตัวแบบไหน ที่สำคัญคือทับซ้อนอยู่ในที่ชุมชนแบบไหน
ดังนั้นการริเริ่มที่มาขยายงาน จากงานวิจัยที่ผ่านมา และการทำงานร่วมกับชุมชน คือ
1.การบินโดรนไลดาร์ จะให้คำตอบเราเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำในภูมิทัศน์แถบนี้ ส่วนที่ 2.เรื่องของการอนุรักษ์และการรักษาโบราณสถาน ถ้าหากเรารู้ว่าโบราณสถาน และชุมชนโบราณอยู่ตรงไหน เราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาทำงานกับท้องถิ่นและชุมชน และหน่วยราชการนำข้อมูลเหล่านี้มาแปลงเพื่อที่จะขยายการบริหารจัดการพื้นที่ได้แม่นยำและดียิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนที่เราไม่รู้ว่า มีโบราณสถานอยู่ตรงไหนในศรีเทพบ้าง ทำให้เกิดอะไรขึ้น และทำไมเราต้องรู้ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหนมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง ที่เรายังไม่เคยสำรวจหรือยังสำรวจไม่ครบถ้วน
ดร.พชรพรบอกว่า ต้องเข้าใจว่า ก่อนหน้าที่เราจะมีเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจลักษณะนี้ขึ้นมา การสำรวจส่วนใหญ่ใช้การบอกเล่า ใช้การเดินเท้าสำรวจ ถ้ามีคนเยอะ เราก็ใช้การตีตารางในพื้นที่ แล้วก็ให้คนเดินเป็นแถวไปตามทุ่งนา ตามป่า หรือพื้นที่ชุมชน เพื่อหาว่า โบราณสถานอยู่ในตำแหน่งไหน
ถ้าเราไม่รู้ว่ามีโบราณสถานอยู่ตรงไหน กิจกรรมในชุมชนก็เดินไปเรื่อยๆ การพัฒนาเมืองก็เดินไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นขยายงานของเกษตรกรรม หรือการขยายหมู่บ้าน ขยายโรงงาน ขยายกิจกรรมทางการค้า
ถ้าไม่รู้โบราณสถานก็อาจถูกทำลายโดยไม่รู้ตัว
เมื่อเราไม่รู้ว่าโบราณสถานอยู่ตรงไหน มักเจอปัญหาว่า การขยายกิจกรรมทางการเกษตรนำไปสู่การทำลายโบราณสถานโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะว่าบางแหล่ง ถ้าเป็นโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่ที่ตื้นหน่อย เช่น เป็นสุสานโบราณ ซึ่งสุสานโบราณเวลาไถดินไป บางครั้งก็ขึ้นมาแล้ว ขึ้นมาทั้งสำริดบ้าง กระดูกคนบ้าง อะไรบ้าง แค่นี้เราก็เสียโบราณสถานเหล่านี้ไปแล้ว
หรือถ้าไม่รู้ว่ามีโบราณสถานอยู่ บางครั้งคนก่อสร้างขุดๆ สร้างไปชนกับอิฐหรือศิลาแลงเข้า บางครั้งมันอยู่ไม่ครบ นักโบราณคดีไม่เห็น ใช้เครื่องไถบ้าง โบราณสถานเหล่านี้ก็ถูกไถไปตามกาลเวลา
ดังนั้นเวลาเรามองหรือเราอนุรักษ์เป็นลักษณะภูมิทัศน์ทั้งหมด รู้ว่าจุดตำแหน่งไหนคือภูมิทัศน์ที่ถูกใช้งานในพื้นที่โบราณ เราก็สามารถสร้างเครือข่ายที่จะเฝ้าระวัง และรักษาโบราณสถานเหล่านี้ รวมถึงนำโบราณสถานเหล่านี้ มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับชุมชนปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น ดีกว่าที่ว่า เขาไปทำอีกอาชีพหนึ่ง เดินไปในวิถีเศรษฐกิจแบบหนึ่ง ในขณะที่เรากำลังจะสู้ว่า เราจะรักษาโบราณสถานแบบนี้ไว้ได้ยังไง ถ้าเรารู้ก่อนเราก็จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง หรือช่วยทำงานเป็นภาคีกับพื้นที่ได้ง่ายมากขึ้น
เราอาจจะพบเมืองโบราณที่หายไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า สิ่งที่คิดว่าตื่นเต้นที่สุด ที่คาดหวังว่าจะได้พบจากการสำรวจไลดาร์คืออะไร
ดร.พชรพร กล่าวว่า มีร่องรอยของแนวคูเมืองชั้นที่ 3 ในภาพถ่ายเก่า ซึ่งในปัจจุบันการจะไปหาหลักฐานนี้ บางครั้งถูกไถออกไปแล้วบ้าง แต่ถ้าหากเป็นพื้นที่ถูกไถ ร่องรอยระดับความต่าง ความสูงของหน้าดิน น่าจะยังมีเพียงพอที่ทำให้เราเห็นว่าเมืองศรีเทพ อาจจะมีคูเมืองหรือเขตเมือง ชั้นที่ 3 ออกไปอีก
ซึ่งถ้าใช่อาจจะทำให้เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณในยุคสมัยต้นๆ ที่เริ่มเกิดสังคมเมืองขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเมืองที่ใหญ่อันดับแรกๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อถามว่า การบินครั้งนี้จะไปช่วยสนับสนุนข้อมูลยังไงกับการเสนอให้ศรีเทพเป็นมรดกโลก
ดร.พชรพร กล่าวว่า สิ่งที่ข้อมูลชุดนี้น่าจะสนับสนุนได้อย่างชัดเจน คือ เนื้อหาของศรีเทพ ที่ปัจจุบันหายไป คือเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เป็นความสำคัญที่เรียกว่า Universal Value มาจากความเข้าใจในแง่ที่ว่า
การพัฒนาการลักษณะนี้มีความสำคัญ หรือเชื่อมโยง หรือสามารถนำไปเป็นแบบแผน และใช้ในการทำความเข้าใจพื้นที่อื่นๆ นอกภูมิภาคนี้ได้ยังไง
ดังนั้นการสำรวจไลดาร์ครั้งนี้ จะให้ข้อมูลในเชิงโบราณคดีประวัติศาสตร์ก่อน คือเรื่อง Urbanism (วิถีชีวิต) การขึ้นมาของสังคมเมืองยุคนั้น จากเพชรบูรณ์ ป่าสัก ไปจนถึงแม่น้ำลพบุรี มีรูปแบบ มีความสำคัญแบบไหน ซึ่งอันนี้มันสร้าง Uniqueness (เอกลักษณ์) ที่เราไม่สามารถเห็นได้ใน Narrative (เรื่องเล่า) ลักษณะปัจจุบันที่นำศรีเทพไปผนวกกับโครงสร้างรัฐเทียบเคียง เช่น รัฐทวาราวดี หรือเมืองโบราณต่างๆ ในลุ่มน้ำท่าจีนหรือพื้นที่อื่น
ประวัติศาสตร์ปัจจุบันถูกเขียนจากเรื่องเล่า
ประวัติศาสตร์ปัจจุบันถูกเขียนขึ้น ที่เป็น Narrative ในการยื่นมรดกโลก เป็นเพียงการเทียบเคียง ซึ่งมันไม่ทำให้ความสำคัญของชั้นหลักฐาน เกิดออกมาด้วยตัวของมันเอง
เมื่อเราผันภาพมาสู่ว่า Urbanism มันเกิดขึ้นได้ยังไง สิ่งที่เราจะสามารถสร้างขึ้นมาได้ก็คือบรรทัดฐานว่า อำนาจของรัฐที่สามารถสร้างเมืองขนาดนี้ขึ้นมาได้ ซึ่งเมืองขนาดนี้ และเครือข่ายที่เหลือมันก็มาสมทบกับความสำคัญ และรัฐขนาดนี้ก็มีอิทธิพลกับภูมิภาค ดังนั้นถ้าพูดง่ายๆก็คือ Size Matter
เมื่อถามว่า ข้อมูลที่ได้จากการบินโดรนทั้งหมด จะทำให้เรื่องเล่าในอดีตที่จะถูกบันทึกกระจ่างชัดขึ้นหรือเปล่า หรือเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นเลย
หัวหน้าชุดโครงการสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ กล่าวว่า จุดนี้สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ทุกคนปวดหัว คือการขาดลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ดังนั้นเราต้องทำงานกับวัตถุจำนวนมาก
สิ่งหนึ่งที่จะได้จากข้อมูลชุดนี้ ถ้าหากเรามาดูเมืองโบราณศรีเทพปัจจุบัน ข้อมูลที่ใช้จะมีภาพถ่ายเพียงชุดเดียว ที่มีการเผยแพร่ทั่วไป ภาพถ่ายชุดนั้น วงแค่เศษส่วนหนึ่งประมาณ 70 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่ A (อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ) ไม่ขยายไปตรงส่วนอื่นด้วยซ้ำไป
ดังนั้นเรากำลังจะเปิดมิติของขอบเขตรัฐจริงๆ ของศรีเทพออกไป ว่าขยายไปถึงส่วนไหน ถ้าหากว่าตีไปทางด้านตะวันออก จะไปชนกับกลุ่มเมืองโบราณลพบุรีทันที ถ้าลงไปทางใต้ จะเจในพื้นที่ B (เมืองโบราณใกล้เคียง) จะมีคำถามว่า กลุ่มเมืองโบราณแถบสระบุรี ที่เชื่อมต่อกัน หรือโบราณสถานต่างๆ มีอะไรบ้าง จะขยายไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น
ข้อมูลใหม่อาจเกิดประโยชน์กับมรดกโลก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างที่ได้ข้อมูลชุดนี้แล้ว บังเอิญมีการประกาศศรีเทพเป็นมรดกโลก เราจะได้ข้อมูลอะไรใหม่ๆ หรือไม่ หรือข้อมูลใหม่ๆ จะได้รับการยอมรับหรือเปล่า
นักวิชาการด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์กล่าวว่า อยู่ที่การบริหารจัดการของมรดกโลกเอง ซึ่งจริงๆแล้ว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ในการที่ว่า การบริหารงานมรดกโลกศรีเทพ จะถูกจัดวางมาแบบไหน
สุดท้ายแล้วการที่บางเมือง ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกไปแล้ว การจะไปขุดค้นวิจัย หรือแม้กระทั่งบูรณะโบราณสถาน ซึ่งมีการระบุมาแล้วว่า เป็นสถาปัตยกรรมแบบนั้นแบบนี้ หากพบหลักฐานค้านว่า ไม่ใช่ อาจจะไม่ใช่โครงสร้างรัฐแบบนี้ Template ที่ถูกร่างมาแล้ว กับสิ่งที่ค้นพบใหม่ค้านกัน ก็จะเกิดปัญหาเรื่องแนวทางการอนุรักษ์ แนวทางการวิจัย ค้นคว้ามากยิ่งขึ้น
แต่ถ้าหากกรอบที่ตีความเอาไว้ หรือดุลยพินิจในการบริหารนโยบาย ทั้งในแง่การวิจัยและการอนุรักษ์ การทำงานร่วมกับชุมชนในการขยายพื้นที่โบราณสถาน หรือการพัฒนาแหล่งต่างๆ มันมีกรอบที่แตกต่างออกไป มันก็สร้างกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่น ที่จะมีงานวิจัยได้มากขึ้น มีงานพัฒนาพื้นที่เกิดได้มากขึ้น
ถ้าหากตั้งกรอบว่า คนเข้าไม่ได้ หรือโบราณสถานไปอยู่ในพื้นที่ชุมชน แล้วชุมชนแตะไม่ได้ อันนี้ก็จะเกิดปัญหาการอนุรักษ์ และอุปสรรคในการค้นคว้าวิจัยอีกต่อไป