วันนี้ (11 ก.พ.2565) นายธนชน เคนสิงห์ ผอ.สวนสัตว์นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากที่องค์การสวนสัตว์ ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชทำโครงการพญาแร้งคืนถิ่นมาได้ระยะหนึ่ง เนื่องจากพญาแร้ง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย และถือว่าอยู่ในบัญชีแดง สัตว์ในบัญชีใกล้สูญพันธ์ุอย่างยิ่ง
แร้งในธรรมชาติฝูงสุดท้ายสูญพันธุ์จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อ 30 ปีจากการลอบล่าเสือโคร่ง ที่คนนำเอายาฆ่าแมลงมาผสมกับซากสัตว์ให้เสือกิน แต่ปรากฎว่ามีแร้งมากินตายยกฝูง
นายธนชน กล่าวว่า ขณะนี้ในไทยมีแร้งในกรงเลี้ยงอยู่เพียง 5 ตัว อยู่ในความรับผิดชอบของสวนสัตว์นครราชสีมา 4 ตัว เป็นตัวเมีย 1 ตัวผู้ 3 ตัว และอีก 1 ตัวเป็นตัวเมีย อยู่ในการดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีการดูแลอย่างดี แม้ว่าจะมีอายุ 20 กว่าปี เพราะแร้งในกรงเลี้ยงชุดนี้อาจถือเป็นความหวังที่จะฟื้นคืนพญาแร้งในธรรมชาติกลับมาเหมือนกรณีนกกระเรียนที่จ.บุรีรัมย์
ภาพ:สวนสัตว์นครราชสีมา
วิวาห์พญาแร้งครั้งแรกของโลก
ผอ.สวนสัตว์นครราชสีมา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีการจับคู่กันในกรงเลี้ยง โดยล่าสุดเมื่อปี 2564 แม้แร้งมีการวางไข่ออกมา แต่พบว่าเป็นไข่ฝ่อไม่มีเชื้อจึงไม่มีลูก และล่าสุดเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา แม่แร้งชื่อนุ้ย ออกไข่อีก 1 ฟอง แต่เป็นการจับคู่กับตัวใหม่ ตอนนี้ต้องรอออีก 2 เดือนว่าจะมีลูกนกแร้งสำเร็จหรือไม่
สำหรับการจับคู่พญาแร้งครั้งแรกของโลก ซึ่งกำลังจะเกิดในวันที่ 14 ก.พ.นี้มีการวิวาห์แร้ง 2 คู่ คู่แรกชื่อแจ็คกับนุ้ย ที่สวนสัตว์นครราชสีมา และอีกคู่ชื่อป๊อก กับมิ่ง ที่ห้วยขาแข้ง
ภาพ:สวนสัตว์นครราชสีมา
เตรียมปล่อยคืนถิ่นอาศัย 14 ก.พ.นี้
ด้านนายวชิราดล แผงปัญญา ทีมวิจัยจากสวนสัตว์นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำพญาแร้งตัวผู้อายุ 21 ปี ไปปรับสภาพมาแล้ว 35 วัน เพื่อเทียบคู่ให้ดูใจกัน และจะมีการประเมินความพร้อม โดยทีมวิจัยในวันที่ 12 ก.พ.นี้ สำหรับพื้นที่จะทำพิธิวิวาห์พญาแร้งบริเวณซับฟ้าผ่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
หลังประชุมประเมินสุขภาพและความปลอดภัยของพญาแร้งทั้ง 2 ตัวจะนำไปปล่อยในพื้นที่เปิดธรรมชาติที่มีการทำกรงปิดล้อมต้นไม้ความสูง 25 เมตร กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ใจกลางของพื้นที่ห้วยขาแข้ง
สำหรับโครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่จะพยายามฟื้นพญาแร้งที่เคยสูญพันธุ์จากธรรมชาติให้กลับคืนสู่ถิ่นกำเนิด โดยการจับคู่แร้งที่เหลือในกรงเลี้ยงทั้ง 5 ตัว เบื้องต้นมีการจับคู่ปล่อยในพื้นที่ธรรมชาติที่เคยมีแร้ง 1 คู่ มีระยะเวลาวิจัยถึงปี 2568