วันนี้ (14 ก.พ.2565) การลงทุนในหุ้นต่างประเทศในปัจจุบัน แม้จะเรียกว่าง่ายกว่าสมัยก่อน แต่ต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำค่อนข้างสูง หากนักลงทุนรายย่อยต้องการลงทุน และยังต้องเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
การเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมดูจะง่ายกว่ามาก และมีตัวเลือกค่อนข้างมาก หลายสินทรัพย์และประเทศ แต่จริงๆ แล้วมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอยู่ประเภทหนึ่งที่นับว่ายังใหม่ และอาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าที่ควร
ในวันนี้จะพาไปรู้จักผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า DR ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากจากสำนักงาน ก.ล.ต.ในการซื้อหลักทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศมา และนำมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ในรูปแบบของสกุลเงินบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ มีเพียง DR ตัวเดียวในตลาด ได้แก่ E1VFVN3001 เป็น ETF ที่อิงในดัชนีหุ้นเวียดนามจำนวน 30 ตัว หรือคล้ายกับหุ้น SET50 ของไทย
แต่ในที่นี้เป็นการอ้างอิงหุ้นต่างประเทศตัวแรก ได้แก่ หุ้นอาลีบาบา หรือบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีอัตราอ้างอิง หุ้นอาลีบาบา 1 หุ้น เท่ากับ DR 100 หน่วย ซึ่งออกตราสารโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,000 ล้านหน่วย
DR หุ้นอาลีบาบา ในชื่อย่อว่า BABA80 เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 14-17 ก.พ.2565 จองซื้อขั้นต่ำ 2,000 หน่วย ทวีคูณครั้งละ 100 หน่วย ราคาเสนอขาย DR เบื้องต้น 4-8 บาทต่อหน่วย แต่จะต้องชำระเงินค่าจองซื้อที่ราคา 8 บาทต่อหน่วย
นักลงทุนที่สนใจสามารถจองซื้อ DR หุ้นอาลีบาบา ได้ที่บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีการประกาศให้ทราบวันที่ 18 ก.พ. ก่อนเวลา 12.00 น. คาดว่าจะเปิดซื้อขายวันที่ 23 ก.พ.นี้
สำหรับจุดเด่นของ DR คือเป็นการเปิดโอกาสลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย นักลงทุนสามารถใช้พอร์ตหุ้นเดิมได้ โดยไม่ต้องเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศใหม่ ค่าธรรมเนียมเท่ากับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
นอกจากนี้ ยังตัดปัญหาเรื่องการแลกเงินต่างประเทศ เนื่องจาก DR จะซื้อขายเป็นเงินบาท โดยนักลงทุนจะเห็นราคาแบบเรียลไทม์บนกระดาน บอร์ดล็อต ขั้นต่ำเพียง 1 DR และมีธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ดูแลรักษาสภาพคล่องในตลาด
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อดีย่อมหนีไม่พ้นต้องมีข้อเสียด้วยเช่นกัน ราคาซื้อขายอาจมีความผันผวน ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศ หรืออัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ
หรือแม้แต่การซื้อขายตราสารในตลาดอาจมีสภาพคล่องน้อย หรือไม่มีสภาพคล่อง และความเสี่ยงเรื่องของความผันผวนของภาวะตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารไม่สามารถส่งผ่านผลประโยชน์แก่ผู้ถือตราสารได้
ความเสี่ยงที่เกิดจากหลักทรัพย์ต่างประเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงในผลการดำเนินงาน รวมทั้งความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสารนั่นเอง แต่สุดท้ายแล้ว ต้องอย่าลืมว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน"