วันนี้ (16 ก.พ.2565) รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท.มีมติเห็นชอบผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการจ้างพัฒนาระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการงานขนส่งสินค้า (Train Tracking and Freight Management System) ราคากลาง 949.9 ล้านบาท โดยผู้ชนะการประมูลคือกิจการร่วมค้าเอเอ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)( AIT) บริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด บริษัท อาร์มเทค เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด บริษัท เอส เจ พี อินฟอร์เมชั่นซิสเต็ม จำกัด เสนอราคาต่ำที่สุดคือ 948 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1.4 ล้านบาท
จากนี้ บอร์ดขอให้ รฟท.ไปเจรจาต่อรองขอลดราคากับผู้ชนะอีกครั้ง โดยจะนำผลสรุปที่ได้ไปเสนอให้ บอร์ด รฟท.รับทราบอีกครั้งในการประชุมเดือน มี.ค.นี้ คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้เดือน เม.ย.2565 โดยระบบติดตาม GPS จะนำไปติดตั้งตำแหน่งหัวรถจักร ส่วน RFID จะนำไปติดตั้งที่ขบวนรถโดยสาร ซึ่งจะเริ่มติดตั้งบนขบวนรถโดยสาร 200 ขบวนและขบวนตู้สินค้า 100 ตู้
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มงานติดตั้งระบบได้ภายใน พ.ค.2565 และเปิดให้บริการได้ช่วงปลายปี 2566 ถือเป็นครั้งแรกที่ รฟท.นำระบบมาใช้หลังจากที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี โดยระบบดังกล่าวติดตามตำแหน่งหัวรถจักร ขบวนโดยสารและแคร่สินค้าได้แบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขนส่ง แก้ปัญหาความล่าช้า และยังอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเช็กเวลาเข้า-ออก สถานีของขบวนรถได้ด้วย โดยจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันมารองรับการใช้งานต่อไป
สำหรับระบบ GPS และ RFID สามารถเช็กติดตามการขนส่งแบบเรียลไทม์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบจัดการติดตามขนวนรถไฟและจัดการงานขนส่งของ รฟท.ให้มีประสิทธิภาะมากยิ่งขึ้น ทำให้ รฟท.สามารถเช็กตู้หมายเลขนั้น ๆ ขนส่งจากไปไหน นำหนักเท่าใด สินค้าเป็นของใคร ทำให้รู้เรื่องของการหมุนเวียนรถ รถตกค้างจุดไหน เพื่อที่จะนำกลับมาหมุนเวียนหารายได้
ในส่วนผู้ประกอบการ สามารถติดตามเช็กสถานนะได้ทันที พร้อมทั้งยังอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไปในการเข้าถึงข้อมูลการเดินทางและบริการ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อย่างทันท่วงที และยังช่วยปรับปรุงกระบวนงานและวิเคราะห์ออกแบบระบบสารสนเทศกลุ่มธุรกิจการเดินรถอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งการนำระบบดังกล่าวมาใช้จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของ รฟท.อีกด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการดังกล่าวมีเอกชนยื่นประมูลจำนวน 2 ราย คือ กิจการร่วมค้าเอเอ และ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด ซึ่งเสนอราคาที่ 949 ล้านบาท สูงกว่าราคาของกิจการร่วมค้าเอเอจึงแพ้ประมูล ถือว่าต่างกันไม่มากแต่เป็นการให้คะแนนด้านเทคนิคด้วย เนื่องจากที่ประชุมบอร์ด มีโจทย์สำคัญเป็นข้อห่วงใยในเรื่องการเชื่อมกับระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องใน รฟท.รวมถึงนอกองค์กร ซึ่งในตัว TOR ได้ระบุเป็นเงื่อนไขอยู่แล้วว่าเอกชนที่จะเข้ามาพัฒนาระบบนี้จะต้องมีการเชื่อมกับระบบอื่นได้ด้วย