นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilians (LMU) ในประเทศเยอรมนี เตรียมเพาะพันธุ์หมูที่ดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อนำมาใช้สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะให้กับผู้รับบริจาคที่รอการปลูกถ่ายหัวใจ ทีมวิจัยคาดว่าการเพาะหมูสายพันธุ์ใหม่นี้ จะสำเร็จก่อนสิ้นปี 2022 และจะช่วยชีวิตคนด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะได้มากขึ้น
การดัดแปลงพันธุกรรมหมู เพื่อนำอวัยวะมาปลูกถ่ายให้กับคนไม่ได้เป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นมา เมื่อไม่นานนี้ ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการปลูกถ่ายหัวใจของหมูที่ดัดแปลงพันธุกรรมแล้วให้กับคนไข้โรคหัวใจระยะสุดท้าย ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าไม่สามารถปลูกถ่ายด้วยหัวใจมนุษย์ได้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย LMU เลือกใช้แนวคิดการดัดแปลงพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียดของการทดลองบางส่วน
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย LMU ได้ดัดแปลงพันธุกรรมของหมู 5 อย่าง และตัดบางอย่างที่ร่างกายมนุษย์จะต่อต้านออกไป โดยเลือกใช้หมูสายพันธุ์หมู่เกาะโอ๊คแลนด์ (The Auckland Breed) เพื่อนำมาใช้สำหรับการเพาะเลี้ยง เมื่อได้หมูที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการแล้ว นักวิจัยจะโคลนนิ่งตัวหมูที่เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ออกมา เพื่อนำมาผสมพันธุ์กันตามปกติต่อไป
หัวใจที่ได้จากหมูรุ่นแรกจะถูกนำมาทดสอบกับลิงบาบูน ก่อนจะนำไปทดสอบกับมนุษย์ที่ต้องปลูกถ่ายหัวใจ ซึ่งการทดสอบดังกล่าวอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย โดยหัวใจเป็นอวัยวะอย่างแรกที่จะทดลองปลูกถ่ายจากหมู แต่ก็อาจมีการทดลองดัดแปลงพันธุกรรมสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในอนาคต
เทคโนโลยีได้การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์อาจจะช่วยเหลือให้ชีวิตมนุษย์ยืนยาวขึ้นได้จริง แต่ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากนักเรียกร้องสิทธิสัตว์บางส่วน เพราะการทดลองนี้เป็นการนำสัตว์หลายชนิดมาทดลอง และเป็นการทรมานสัตว์จากการนำสัตว์เหล่านี้มาทดลองในฐานะอะไหล่ของมนุษย์
ที่มาข้อมูลและภาพ: reuters, freethink,
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech