ในอนาคตเราอาจจะมีโอกาสได้ใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตจากเส้นใยเคฟลาร์ที่พบได้ในเสื้อเกราะกันกระสุน โดยแบตเตอรี่แบบใหม่นี้สามารถเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่แบบลิเทียมถึง 5 เท่า และยังสามารถนำไปใช้เป็นแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ด้วย ซึ่งจะใช้งานได้นานขึ้นและชาร์จได้ถึง 1,000 รอบ
เส้นใยเคฟลาร์ (Kevlar) เป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่อยู่ในกลุ่มอะรามิด (Aramid Nonofibers) มีความแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา และมีคุณสมบัติในการรับแรงกระแทกได้อย่างดีเยี่ยม จึงถูกนำมาใช้งานหลากหลายประเภท โดยเฉพาะการนำมาทำเสื้อเกราะกันกระสุน เพราะทนต่อความร้อนและการฉีกขาดได้ดี
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำคุณสมบัติของเส้นใยที่ได้จากขั้นตอนการรีไซเคิลเส้นใยเคฟลาร์ ซึ่งได้จากเสื้อเกราะกันกระสุนและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีเส้นใยเคฟลาร์ นำมาผลิตแบตเตอรี่แบบลิเทียม-ซัลเฟอร์ (Li-S) ที่เก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน (Li-ion) โดยสามารถจุได้มากกว่าถึง 5 เท่า
นอกจาก คุณสมบัติด้านความจุแล้ว แบตเตอรี่แบบลิเทียม-ซัลเฟอร์ ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า และสามารถใช้แร่กำมะถันในการผลิตแบตเตอรี่แทนที่การใช้โคบอลต์ ซึ่งมีราคาแพงและเป็นอันตราย แต่ข้อเสียของแบตเตอรี่แบบนี้มักจะเสื่อมสภาพเร็ว ไม่สามารถชาร์จด้วยจำนวนรอบที่มากพอ นักวิจัยจึงได้พัฒนาเมมเบรน (Membrane) ที่ได้จากเคฟลาร์ในเสื้อเกราะกันกระสุนมาช่วยแก้ปัญหานี้
นอกจากนี้ แบตเตอรี่แบบลิเทียม-ซัลเฟอร์ ยังช่วยแก้ปัญหาการชาร์จพลังงานในอุณหภูมิสุดขั้ว ไม่ว่าจะอากาศหนาวเกินไปหรือร้อนเกินไป ก็ไม่เป็นปัญหา และนักวิจัยยังประเมินด้วยว่าแบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานถึง 10 ปี ชาร์จได้กว่า 1,000 รอบ เมื่อนำไปใช้งานกับรถยนต์ไฟฟฟ้า
ทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติและกระทรวงกลาโหม ในการศึกษาเมมเบรนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาแบตเตอรี่ โดยได้เตรียมจดสิทธิบัตรการพัฒนาเมมเบรนและวางแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด
ที่มาข้อมูลและภาพ: umich.edu, interestingengineering, thenextweb, futurity
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech