วันนี้ (21 ก.พ.2565) นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังรับแจ้งเหตุพบคราบฟิล์มน้ำมัน คราบตะกอนเหนียว และมีกลิ่นในพื้นที่หาดแม่รำพึง บริเวณคลองหัวรถ และร้านเจ๊จุกซีฟู๊ด จ.ระยอง จึงสำรวจชายหาดแม่รำพึง ตั้งแต่ศาลเจ้าแม่รำพึงถึงก้นอ่าว ระยะทางประมาณ 9.5 กม. พบสภาพน้ำทะเลเป็นปกติ และไม่พบคราบฟิล์มน้ำมันในน้ำทะเล
นายโสภณ กล่าวว่า ส่วนก้อนน้ำมันดินบนชายหาดตั้งแต่บริเวณสะพานท่าเรือตะพงไปจนถึงก้นอ่าว ระยะทาง 8 กม.ได้สุ่มเก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันดินบริเวณสะพานท่าเรือตะพง คลองหัวรถ ร้านเจ๊จุกซีฟู๊ด และก้นอ่าวพบความหนาแน่นสูงสุดบริเวณคลองหัวรถ
อธิบดีทช.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณชายหาดสุชาดา หาดแสงจันทร์ อ่าวบ้านเพ และหาดสวนสน พบสภาพน้ำทะเลเป็นปกติ ไม่พบคราบฟิล์มน้ำมันในน้ำทะเล และก้อนน้ำมันดิน ภาพรวมน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ปกติตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 4 เพื่อการนันทนาการ
ตอนนี้ ได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเล และดินตะกอนบริเวณสถานีเก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันดิน เพื่อหาการปนเปื้อนปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนด้วย
อ่านข่าวเพิ่ม ยังอุดรอยรั่ว "ท่อส่งน้ำมันดิบ" จุดที่ 2 ไม่ได้ รอกรมเจ้าท่าอนุมัติ
เปิดแผนอุดรอยรั่วน้ำมันใต้ทะเลระยอง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า จากการประชุมหารือกรณีบริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟนนิ่ง จำกัด (มหาชน) ขอเข้าพันปิดรอยรั่วของท่ออ่อนใต้ทะเล 25 เมตร ซึ่งเมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) กรมเจ้าท่าได้เห็นชอบในหลักการต่อแผนปฏิบัติการแล้ว แต่วันนี้ขอให้ SPRC ส่งรายละเอียดตามข้อเสนอแนะจากที่ประชุมพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง
อธิบดีกรมควลคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า สำหรับการเข้าปฏิบัติการครั้งนี้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ มีคนรับรองและมีคนเข้าไปสังเกตการณ์ปฏิบัติภารกิจ เพื่อให้เกิดความรัดกุมมากที่สุด ทุกอย่างต้องมีความพร้อมมาก ไม่ต้องไม่เกิดปัญหาระหว่างปฏิบัติงานใต้ทะเลอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องของดูดน้ำมัน หากเกิดการรั่วไหลระหว่างการเข้าไปอุดรอยรั่ว
ดังนั้นจึงเสนอให้มีการบันทึกการทำงานใต้ทะเล เพื่อเป็นหลักฐานในการปฏิบัติงาน เนื่องจากท่อเป็นวัตถุพยาน จึงต้องรักษาไว้ซึ่งสภาพของหลักฐานให้มากที่สุด ห้ามเปลี่ยนแปลงวัตถุพยาน
ยังมีความกังวลในขั้นตอนการทำงานที่ต้องละเอียดรอบคอบ ปลอดภัย มีแผน 1 และแผน 2 ในการเข้าปฏิบัติภารกิจอุดรอยรั่วท่อนำมัน ในช่วงเวลบา 10 วันข้างหน้า เพราะมีเดิมพันน้ำมันอีก 12,000 ลิตรที่ยังค้างท่ออยู่
เมื่อถามว่าจะมั่นใจอย่างไรว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยรอยน้ำมันรั่วอีกรอบ อธิบดีกรมควลคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า หากบริษัทความมีพร้อมตั้งแต่การรั่วไหลรอบแรก คงไม่มีเหตุการณ์น้ำมันนรั่วรอบ 2 รวมทั้งแผนเผชิญเหตุ แต่ทำได้แต่ไม่ดีพอ ไม่งั้นคงจะควบคุม และไม่ต้องขอใช้สารการใช้สาร Dispersant ในการกำจัดคราบน้ำมัน
ความยากง่ายของปฏิบัติอุดรอยรั่วน้ำมันใต้ทะเล
ข้อมูลจากที่ประชุมกรณีบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมาร่วมกับกรมเจ้าท่า SPRC คพ. สสภ.13 ศคพ.ระยอง สอจ.ระยอง สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนง.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด กลุ่ม IESG และ สภ.มาบตาพุด สรุปดังนี้ SPRC นำเสนอขั้นตอนการพันปิดรอยรั่วของท่ออ่อน 3 ขั้นตอนดังนี้
ฉีดน้ำยากันรั่วที่บอลวาล์วใต้ทะเล มี 3 ตัว ซึ่งปัจจุบันปิดวาล์วอยู่ เพื่อป้องกันโอกาสที่น้ำมันจะไหลย้อนมาจากฝั่งกลับมาที่รอยรั่ว โดยจะมีการฉีดน้ำยาทำความสะอาดก่อน ตามด้วยน้ำยากันรั่ว (sealant) แล้วดำเนินการทดสอบบอลวาล์วว่าสามารถรับแรงดันได้
ดูดน้ำมันที่ค้างท่ออ่อนออก เพื่อลดความเสี่ยงของน้ำมันที่อาจจะรั่วไหลออกมาได้ในช่วงที่มีการพันท่อ โดยมีขั้นตอน ดังนี้ 1) ดูดน้ำมันที่ค้างอยู่ในท่อแนวนอนออกก่อน โดยใช้ปั๊มสูบเก็บไว้ที่เรือ 2) ต่อหน้าแปลนกับวาล์วด้านบนซึ่งต่อกับปั๊มสูญญากาศในลักษณะปิดสนิท เพื่อให้เป็นระบบปิด เพื่อป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันในขณะดูด 3) ต่อท่อน้ำด้านล่างเข้ากับวาล์วใต้ทะเล เติมน้ำให้เต็มและยกปลายสายอยู่ที่ระดับน้ำทะเล 4) เดินปั๊มสูญญากาศเพื่อให้ด้านบนมีความดันเป็นสูญญากาศ แล้วค่อยๆ เปิดวาล์วให้น้ำเข้ามาแทนที่น้ำมัน และดูดน้ำมันขึ้นทางด้านบน
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำมันที่จะดูดขึ้นประมาณ 12,000 ลิตร จะดูดจนไม่เห็นสภาพน้ำมัน โดยตลอดช่วงที่ดำเนินการจะมีนักประดาน้ำเฝ้าสังเกตการณ์รอยรั่ว ข้อต่อทุกจุด หากพบการรั่วไหลของน้ำมันจะหยุดปฏิบัติการทันที
พันปิดรอยรั่วทั้ง 2 จุด เมื่อมั่นใจว่าภายในท่อเป็นน้ำทะเลทั้งหมด โดยได้มีการหารือผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทผู้ผลิตท่อ เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน และได้ร่วมทดลองปฏิบัติการบนฝั่งแล้ว
โดยมีการห้อหุ้ม 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นชั้นกันซึม ชั้นที่ 2 เป็นชั้นเพิ่มความแข็งแรง ชั้นที่ 3 เป็นชั้นกันซึม จากนั้นจะใช้สายรัดอุตสาหกรรมมัดอีกครั้ง และทำการทดสอบแรงดัน ไม่พบว่ามีการรั่วซึมออกมา วัสดุที่ใช้สามารถใช้งานได้ทั้งบนบกและในทะเล
การปฏิบัติงานครั้งนี้ ผู้ตรวจงานทุกคนต้องผ่านการอบรมด้านความปลอดภัย มีประสบการณ์ เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งใน-ต่างประเทศ มาให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง รวมทั้งอุปกรณ์ เตรียมให้เพียงพอ ได้มาตรฐาน และมีการตรวจสอบความปลอดภัย เรือ อุปกรณ์ตอบโต้เหตุฉุกเฉิน
ซึ่งการกำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติงานให้ปลอดภัย โดยมีหัวหน้าผู้ควบคุมงาน หัวหน้างานสำหรับแต่ละงาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย เพื่อให้การปฏิบัติงานให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดอย่างถูกต้องและปลอดภัย และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพเรือ, กรมเจ้าท่า เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติงาน
เรือ 10 ลำทีมนักดำน้ำอุดรอยรั่วใต้ทะเล 24 คน
ภายใต้แผนปฏิบัติงานนี้ เตรียมอุปกรณ์ติดตั้งบูม 5 ปาก ยาวเส้นละ 200 เมตร ใช้เรือลากจูงบูม 10 ลำ
เรือฉีดพ่น Dispersant 3 ลำ ติดตั้งอุปกรณ์เก็บคราบน้ำมัน (Skimmer) บนเรือ ศรีราชา ออฟชอว์ 881 (เก็บน้ำ+น้ำมันได้ 100,000 ลิตรต่อ ชม. เรือสีวลี รับน้ำมันที่สูบจากทะเลได้ 600,000 ลิตร ติดตั้งเต้นท์ดักน้ำมันใต้ทะเล พร้อมปั้มดูดน้ำมันออกจากเต้นท์ ส่วน เรือหลวงหนองสาหร่าย ของกองทัพเรือ มีทีมนักประดาสำหรับเฝ้าระวัง บันทึกภาพใต้น้ำ และมียานสำรวจใต้น้ำในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้มี นักประดาน้ำปฏิบัติงาน 24 คน เพื่อพันท่อ ต่ออุปกรณ์ และตอบโต้เหตุฉุกเฉิน
ขั้นตอนการเก็บกู้น้ำมัน
- ใช้ทุ่นกักน้ำมันในการกักน้ำมันที่ออกมาจากท่อไห้น้ำ
- ในกรณีที่พบคราบน้ำมันหนา ในทุ่นกักน้ำมัน ใช้อุปกรณ์เก็บคราบน้ำมัน (Skimmer) เก็บคราบน้ำมันขึ้นมา
ใช้แผ่นทุ่นซับน้ำมัน และถ้ามีปริมาณน้ำมันมากจะฉีดพ่น Dispersant - ในกรณีที่พบเป็นฟิล์มน้ำมันในทุ่นกักน้ำมัน ใช้แผ่นทุ่นซับน้ำมัน รวมทั้ง ฉีดพ่น Dispersant
- ในกรณีคราบ/ฟิล์มน้ำมันหลุดออกจากพื้นที่วางทุ่นกักน้ำมัน ให้ใช้เรือที่ลากบูม เปลี่ยนมาฉีดพ่น Dispersant
- ในกรณีคลื่นสูงเกิน 1.5 เมตร จะใช้เรือฉีดพ่น Dispersant
ทั้งนี้ SPRC แจ้งว่าในการปฏิบัติงาน จะใช้เวลาประมาณ 11 วัน แบ่งเป็น วันที่ 1 ฉีดสารล้างตัววาล์ววันที่ 2-3 ฉีดน้ำยากันรั่ว (sealant) วันที่ 4 นำน้ำมันออกจากท่ออ่อน วันที่ 5 ทำความสะอาดด้านนอกของท่ออ่อน วันที่ 6-11 พันปิดรอยรั่ว 2 จุด ที่เส้นท่ออ่อน
ทั้งนี้หลังจากพันท่อเสร็จแล้ว ให้ SPRC เพิ่มขั้นตอนการดูดน้ำในท่ออีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีน้ำมันตกค้างอยู่ และให้วิศวกรผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน ตรวจสอบค่า HC ในน้ำที่ดูดขึ้นมาต้องไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด (15 ppm) จึงถือว่าการ flush สมบูรณ์แล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด่วน! น้ำมันรั่วซ้ำทะเลมาบตาพุด 5,000 ลิตร
สตาร์ปิโตรเลียมฯ รายงานน้ำมันค้างท่ออีก 12,000 ลิตร