วันนี้ (23 ก.พ.2565) ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเลื่อนการบังคับใช้ UCEP PLUS สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งจะนำมาใช้ในวันที่ 1 มี.ค.2565 ออกไป ซึ่งในปัจจุบัน การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการใช้สิทธิการรักษาตามหลัก UCEP COVID หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรักษาได้ฟรีทุกสถานพยาบาล สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม จากการที่โรคโควิด-19 มีการแพร่ระบาดมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ทำให้ประเทศไทยเตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำท้องถิ่นแทนโรคฉุกเฉิน หลังจากโรคได้ลดความรุนแรงลง และเตรียมปรับให้โควิด-19 ไปรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละคน คือสวัสดิการข้าราชการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง และประกันสังคม หรือแม้แต่ประกันชีวิต โดยผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการสีเหลือง และสีแดงยังเข้าใช้ UCEP PLUS ได้ตามเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต
สำหรับ 6 อาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต นอกจากอาการเฉพาะของโรคโควิด-19 ได้แก่ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย
เปิดสิทธิรักษาพยาบาล "บัตรทอง"
สำหรับสิทธิการรักษาพยาบาลตามบัตรทอง ได้แก่ 1.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2.การตรวจวินิจฉัยโรค 3.การตรวจและรับฝากครรภ์ 4.การบำบัดและการบริการทางการแพทย์ 5.ยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 6.การทำคลอด 7.การกินอยู่ในหน่วยบริการ 8.การบริบาลทารกแรกเกิด 9.บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย
10.บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ 11.การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ 12.บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ 12.บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติม 13.บำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
14.บริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการประสบภัยจากรถที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 15.รักษาภาวะมีบุตรยากและการผสมเทียม ยกเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทน (Surrogacy) และ 16.การรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน เกินกว่า 180 วัน
ม.33-39 ใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้
ส่วนสิทธิการรักษาตามประกันสังคม จะแบ่งตามมาตรา 33, 39, 40 ได้แก่ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 กรณีเจ็บป่วยปกติ สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้นได้ฟรี โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน
ส่วนกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน กรณีเข้ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลรัฐ คือผู้ป่วยนอก เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ส่วนผู้ป่วยใน เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ ไม่นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ส่วนกรณีเข้ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเอกชน คือผู้ป่วยนอก เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,000 บาท หรือ เกิน 1,000 บาทได้ หากมีการตรวจรักษาตามรายการในประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ ส่วนผู้ป่วยใน กรณีที่ไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องและค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 700 บาท
และสำหรับกรณีที่รักษาในห้อง ICU เบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง และค่าอาหาร ได้รวมไม่เกินวันละ 4,500 บาท ผ่าตัดใหญ่ เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาท ค่ายา และค่าอุปกรณ์ เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่าเอกซเรย์ เบิกได้ไม่เกิน 1,000 บาท
ทั้งนี้ ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้เคียงได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ม.40-ประกันชีวิตใช้ตามสิทธิพึงมี
ขณะที่ผู้ประกันตน มาตรา 40 จะใช้สิทธิการรักษาตามหลักประกันสุขภาพ/บัตรทอง (สปสช.) หรือสิทธิเดิมที่มีอยู่ ส่วนประกันชีวิต สิทธิการรักษาพยาบาล ขึ้นอยู่กับประกันสุขภาพที่ได้ทำไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตของแต่ละคน