วันนี้ (24 ก.พ.2565) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย หรือ Anti-Fake News Center Thailand รายงานว่า 6 อาชญากรรมออนไลน์ ที่คนไทยมักตกเป็นผู้เสียหาย โดยระบุว่า ปัจจุบัน อาชญากรรมบนโลกออนไลน์ หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยมิจฉาชีพเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีเพื่อหลอกผู้เสียหายให้หลงกลแล้วได้เงินมาแบบง่ายๆ
เป็นภัยร้ายใกล้ตัวเพียงแค่ปลายนิ้ว เพียงแค่เปิดคอมพิวเตอร์หรือใช้งานอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะตกเป็นผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้โดยไม่รู้ตัว โดยอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่คนไทยมักจะตกเป็นผู้เสียหายบ่อยมากที่สุด มีดังต่อไปนี้
การหลอกลวงผ่านอีเมล (Email scam)
SMS หรือ Email ปลอมที่ทุกคนรู้จักกัน มักจะอ้างว่ายินดีด้วยคุณถูกรางวัล….. หรือคุณได้รับเงินจาก…. และเชิญชวนทำงาน เพียงกดที่ลิงก์นี้ สิ่งที่มิจฉาชีพต้องการคือให้เหยื่อเข้าไปกรอกข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ปลอมที่ถูกสร้างเอาไว้
การหลอกลวงขายสินค้า (Sales scam)
ประเด็น ‘การโดนโกงจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์’ พบเห็นได้บ่อยในลักษณะการหลอกขายสินค้าให้โอนเงินแต่ไม่ส่งสินค้า สินค้าไม่ตรงปกสั่งอีกอย่างส่งอีกอย่างมา และสินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือได้สินค้าของปลอม ที่อ้างว่าลดราคาขายถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป
การหลอกรักออนไลน์ (Romance Scam)
มาหลอกให้รัก มาหลอกให้หลง และจากไป มิจฉาชีพเหล่านี้มักจะสร้างโปรไฟล์ที่ดูดี หล่อ สวย มีฐานะ ดูน่าเชื่อถือ เข้ามาพูดคุย ตีสนิทสนมสานสัมพันธ์ เมื่อผู้เสียหายหลงรัก หลงเชื่อใจจนขาดสติ จะให้โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ให้มิจฉาชีพ และบางรายถูกหลอกใช้ขนส่งยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายก็มีให้เห็นด้วยเช่นกัน
การหลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam)
มิจฉาชีพพวกนี้จะคล้ายกับการ Romance Scam แต่จะใช้ความโลภของผู้เสียหายมาหลอกลวง ยิ่งโลภมากยิ่งเสียเงินมาก โดยสร้างโปรไฟล์ปลอมเป็นนักลงทุน มีทรัพย์สินจำนวนมาก จากนั้นส่งข้อความถึงผู้เสียหาย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ หลอกให้เกิดความโลภอ้างว่ามีช่องทางการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง
ถ้าผู้เสียหายไม่ได้เอะใจเกิดโลภขึ้นมาอยากรวยทางลัดโดยไม่ศึกษาให้ดี จะถูกหลอกให้ลงทุนเรื่อยๆ เพิ่มเงินเข้าไปทีละนิด โดยใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ลงทุนปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา และบทสรุปของเรื่องนี้ก็จะเจ็บหนักถูกเชิดเงินหนีหายไป
การหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Vishing Phishing)
รูปแบบนี้พบเห็นได้บ่อย และยังคงมีคนหลงเชื่อเป็นประจำ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้จะพยายามสร้างสถานการณ์ เล่นกับความกลัวให้ผู้เสียหายตกใจ มักจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานต่างๆ อ้างว่าเหยื่อมีส่วนร่วมกับสิ่งผิดกฎหมาย
บัญชีธนาคารถูกใช้ฟอกเงินหรือตรวจพบสิ่งของผิดกฎหมายจากบริการขนส่ง พอผู้เสียหายกลัวและตกใจจนขาดสติก็จะให้บอกข้อมูลส่วนตัวหรือให้โอนเงินเพื่อความสุจริต
การหลอกให้ลงทุนแชร์ลูกโซ่ (Ponzi scheme)
ขบวนการแชร์ลูกโซ่มีการพัฒนาให้ทันสมัยและทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น มาทั้งในรูปแบบของแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ มักจะหลอกชักชวนให้ร่วมลงทุน มักอ้างว่าถ้าคุณลงทุนกับเราจะมีผลกำไรตอบแทนที่สูงในระยะเวลาสั้นๆ
โดยช่วงแรกจะได้รับเงินจากการลงทุนจริง แต่เมื่อมีผู้เสียหายหลงกลร่วมลงทุนขยายเครือข่ายมากขึ้น สุดท้ายก็ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่อ้างไว้ และหนีหายไปพร้อมกับเงินที่ลงทุน
จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอาชญากรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์ ควรมีสติและไม่ควรเชื่อใครง่ายๆ ควรตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจโอนเงินจะได้ไม่ตกเป็นผู้เสียหาย