กรณีของ "สิริมาศ จันทรโคตร" ในวัย 26 ปี ที่ได้ทำโปสเตอร์สีแจ่มบาดตากับประโยคเด็ดแสดงถึงความยินดีกับการลาออกจากอาชีพ "ครู" กลายเป็นไวรัลในโซเชียล แม้หลายคนจะแสดงความยินดีและชื่นชมในความกล้าตัดสินใจ แต่ปัญหาภาระงานในระบบข้าราชการครูก็เป็นอีกประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์
(อ่านข่าว : โซเชียลแห่แชร์ "โปสเตอร์" ครูลาออก "อย่าให้งานเปลี่ยนเรา แต่เราควรเปลี่ยนงาน")
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ รับรู้ถึงปัญหานี้ และพยายามแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ครูไม่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะภารกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น งานพัสดุ งานธุรการ หรืองานเอกสารต่าง ๆ
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ไทยมีครูทั้งหมด 400,000 คน เป็นครูที่มีวิทยฐานะตั้งแต่ชำนาญการขึ้นไปประมาณ 270,000 เกือบ 280,000 คน หรือง่าย ๆ คือมีครู 10 คน เป็นครูที่มีวิทยฐานะแล้ว 7 คน เป็นครูที่ยังไม่มีวิทยฐานะ เป็นครูใหม่ประมาณ 3 คน
สถิตินี้แสดงว่าเรามีครูที่เก่งมาก เชี่ยวชาญการสอน มีวิทยฐานะสูงอยู่ตั้ง 7 คน แล้วทำไมคุณภาพหรือผลลัพธ์ทางการศึกษาจึงไม่สูง
รศ.ดร.ประวิต ได้ชวนคิดถึงโจทย์สำคัญเกี่ยวกับการศึกษาไทย 6 ประเด็น ที่จะนำไปสู่การลดความซ้ำซ้อนของภาระงานครู และเพิ่มคุณภาพชีวิตและความก้าวหน้าของครู ซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับคุณภาพการศึกษาของทั้งประเทศ
1.ลดภาระงานเอกสาร
รศ.ดร.ประวิต ระบุว่า ระบบวิทยฐานะเดิมที่ทำเอกสาร ส่งเป็นผลงานทางวิชาการสะสมอะไรไว้มากมาย คือโจทย์ที่หากปรับวิธีการประเมิน จากการประเมินเอกสารมาเป็นการประเมิน Performance หรือการทำงานในห้องเรียนจริงของครูได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง
ทั้งนี้ จะมีการปรับให้ครูเลือกคลิปการสอนที่ดีที่สุด เมื่อได้คลิปการสอนที่ดีที่สุด และมั่นใจแล้วลองประเมินกัน จากแบบประเมินที่จะเผยแพร่ไป แล้วใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาพัฒนาวิธีการส่ง ครูไม่ต้องมาขนผลงานวิชาการเอกสารมาส่ง แต่จะส่งผ่านระบบออนไลน์เข้ามาและจะเร็วขึ้น
อย่าไปกังวลกับเรื่องคุณภาพของภาพและเสียง ให้กังวลในเชิงคุณภาพของการเรียนการสอน เพราะเราไม่ได้ตัดสินจากคุณภาพของภาพและเสียงของคลิปที่ส่งเข้ามา แต่ยืนยันว่ามันจะดีขึ้น เพราะจะลดภาระในเรื่องเอกสารลง
2.ลดความซ้ำซ้อนของงานครู
เรื่องใหญ่คือ ต้องลดความซ้ำซ้อนในการประเมิน ซึ่งเป็นภาระใหญ่ของครู ขณะเดียวกันมีงานอย่างอื่นที่เข้าไปในโรงเรียนมากมาย ทำให้ครูเสียเวลาไปกับทั้งงานธุรการ งานการเงิน งานพัสดุ ซึ่งงานเหล่านี้ทำให้ครูออกนอกห้องเรียน ทำอย่างไรวิทยฐานะจะไม่ดึงเอาครูออกนอกห้องเรียน ไม่ใช่ให้ครูไปทำเอกสารจำนวนมากเลยเพื่อมาส่งครูไม่ต้องเสียเวลาในการทำ แล้วเอาเวลามาพัฒนาตัวเอง มาพัฒนาการเรียนการสอนจริง ๆ ครูสามารถที่จะส่งผลงานได้ทุกภาคเรียนซึ่งตรงนี้จะทำให้กระบวนการในการประเมินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นมันก็จะทำได้เห็นผลจริง ๆ
3.เพิ่มทักษะครู เรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งโรงเรียน
รศ.ดร.ประวิต ระบุว่า ระบบวิทยฐานะที่ผ่านมาเป็นการทำงานในเชิงวิชาการ เป็น Academic Skill เป็นทักษะทางวิชาการที่พยายามที่จะให้คุณครูพัฒนาโดยงานวิจัยหรือเขียนเป็นโครงการ เป็นเอกสารทางวิชาการ ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ทำให้ครูพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ อาจจะใช้กระบวนการเปิดห้องเรียน เปิดชั้นเรียนให้คุณครูเข้าไปแชร์กัน ให้ครูเอาวิธีการเรียนการสอนมาร่วมแลกเปลี่ยนกันในวง PLC ของโรงเรียน เพื่อพัฒนาตัวเองเสร็จแล้วลองฝึกกระบวนการในการทำการสอนร่วมกัน พัฒนาให้รู้ว่าตัวเองยังไม่ผ่านตรงจุดไหน อะไร อย่างไรบ้าง
ผลการประเมินจะทราบในภาคเรียนเดียว เพราะฉะนั้นคุณครูสามารถส่งได้ตลอดปี ลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึง การปฏิบัติงานจริง ๆ ของครูที่ห้องเรียน และแสดงให้เห็นถึงทักษะในการสอนของครู นั่นคือโจทย์สำคัญที่อยากได้ เพราะอยากให้ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เราคาดหวังบทบาทของผู้บริหารโรงเรียนที่จะเข้าไปช่วยคุณครูค้นหาวิธีสอนที่มีพลังมากที่สุด แล้วกระบวนการแบบนี้ มันจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของโรงเรียน ที่ทุกคนพัฒนาตัวเอง พัฒนาจากห้องเรียนของตัวแทน เพราะฉะนั้นถ้าผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้นำทางวิชาการ สังเกตชั้นเรียน ให้คำแนะนำเป็นโค้ช หรือว่าเป็นเมนเทอร์ให้กับคุณครู พลังการสอนของครูจะออกมา
4.เพิ่มคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ให้ครูมีเวลาพอที่จะเข้าไปพัฒนาการเรียนการสอนของตัวเอง และมีเวลาพอที่จะเอาใจใส่เด็กในห้องเรียนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนที่เรียกว่า เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังของโรงเรียนขึ้นมา เอางานของครูมาวิเคราะห์ใหม่ เอาสัดส่วนทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเข้ามาจับ เชิงปริมาณคือ เปลี่ยนวิธีคิดจากสัดส่วนครูต่อเด็กมาเป็นโรงเรียน 1 โรงเรียนควรมีครูกี่คน แล้วในเชิงคุณภาพคือว่าต้องมีครูเอกอะไรบ้าง ในระดับประถมศึกษาต้องมีคู่คนที่ 1 คนที่ 2 เอกอะไร แล้วมัธยมศึกษาต้องมีเอกอะไร 1 โรงเรียนควรมีครูอย่างน้อยกี่คน
เมื่อวิเคราะห์ส่วนนี้ออกมาโจทย์ใหญ่คือ เราไม่ได้อัตราเพิ่มในแต่ละปี แต่ละปีเราต้องใช้อัตราเท่าเดิม แต่ต้องหาวิธีการที่จะเกลี่ยครู ให้ครูโรงเรียนที่ล้นหรือที่เกิดอยู่ตอนนี้ ซึ่งการเกลี่ยก็คือจะเกลี่ยเมื่อคณุท่านนั้นเกษียณแล้วก็เกลี่ยไป ค่อย ๆ เกลี่ยตำแหน่งไปแล้วไปบรรจุหรือว่ารับย้ายคนเข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่ขาด
พอทำอย่างนี้เราก็มาวิเคราะห์ว่า หากมีการดำเนินการตามนี้ 5 ถึง 7 ปีข้างหน้า ครูจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง สัดส่วนของโรงเรียนก็จะเริ่ม ทำให้โรงเรียนเล็กมีครูที่มีขนาดเหมาะสม ขณะเดียวกันโรงเรียนใหญ่ก็ไม่ใหญ่จนเกินไป
5.เพิ่มความก้าวหน้าในวิชาชีพครู ไม่เสียสิทธิ์เดิม
เกณฑ์สำคัญก็คือเรื่องของการที่จะต้องให้ครู มีความก้าวหน้าในวิชาชีพของตัวเอง ซึ่งอยู่ที่มาตรฐานตำแหน่งกับกับมาตรฐานวิทยฐานะที่คุณครูต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่มาที่เราพยายามทำให้มีการปรับเปลี่ยน เรื่องเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ ไม่เสียสิทธิ์เวลา เกณฑ์เก่าท่านต้องขยายระยะเวลา ในการที่จะประเมินวิทยฐานะ ในแต่ละช่วงวิทยฐานะคือ 5 ปี เพราะฉะนั้นหากครูพัฒนาตนเองแล้วไปสู่จุดสูงสุด ต้องใช้เวลาจำนวนมากคือ 20 ปี แต่เราจะร่นระยะเวลาให้ในแต่ละช่วงวิทยฐานะลงมา 4 ปี และลดเวลาลงมาได้อีก 3 ปี
ท่านเอาผลงานเดิมมาบวกกับ PA ใหม่ที่จะทำ แล้วก็ขอได้เลย ในระยะยาวว่า ถ้าเราพัฒนาตามระบบใหม่ เราจะขึ้นสู่จุดสูงสุดของวิชาชีพเรา ในระยะเวลาที่น้อยลงมาก ๆ เพราะฉะนั้นผมย้ำอีกครั้งว่า ไม่เสียสิทธิ์
6.คืนเวลาครูให้นักเรียน
รศ.ดร.ประวิต ชวนนึกภาพว่า ใครจะได้ประโยชน์หากคืนเวลาครูให้นักเรียน ก็คือตัวเด็ก คุณครูก็พัฒนาการสอนที่ดีที่สุดสำหรับเด็กของตัวเอง นั่นคือหัวใจสำคัญ เมื่อคุณครูทุ่มเทตรงนี้ได้อย่างเต็มที่ ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนห้องเรียนจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้คือโจทย์ที่เราคาดหวังคำตอบที่ถูกต้องในอนาคต