วันนี้ (7 มี.ค.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนครองโลกเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดย BA.1 ยังเป็นสายพันธุ์หลักอยู่ ทั้งยังมีสายพันธุ์ BA.1.1 ที่เริ่มพบค่อนข้างมาก ส่วน BA.2 พบรายงานแล้ว 185,121 คน
ขณะที่ประเทศไทย ในช่วงสัปดาห์ก่อนตรวจไป 1,898 คน พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลตา 7 คน ที่เหลือเป็นโอมิครอนทั้งหมด
พูดได้ว่า โอมิครอนครองตลาด 99.6% เกือบ 100% และมีอยู่ในทุก ๆ จังหวัด
นพ.ศุภกิจ ระบุว่า ทั้งกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศและกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศ เป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด โดย BA.2 พบ 52% ที่เหลือเป็น BA.1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า BA.2 แพร่กระจายได้เร็วกว่า และสักพักอาจจะเข้ามาแทน BA.1 แต่ต้องจับตาว่า หาก BA.1.1 เร็วกว่าก็อาจจะแซงกลับมาได้
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า BA.2 มีความรุนแรงแตกต่างจาก BA.1 หรือไม่ เพียงพบว่าแพร่ได้เร็วขึ้น โดยมีข้อมูลสนับสนุนว่า แพร่เร็วขึ้น 1.4 เท่า และแพร่กระจายในครัวเรือนได้สูงกว่า BA.1 ถึง 10%
สำหรับวัคซีนพบว่า BA.2 ดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สิ่งสำคัญคือ การใช้ Monoclonal Ab ซึ่งเป็นยาราคาแพงที่หวังจะเข้าไปจัดการกับตัวเชื้อ เมื่อใช้แล้วส่วนใหญ่พบว่า ถึงรักษา BA.1 หรือเดลตาได้ กลับนำมาใช้รักษา BA.2 ไม่ได้