วันนี้ (9 มี.ค.2565) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงประเด็นหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 ว่า 70-80% ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยมี 10-20% ที่อาจจะมีอาการรุนแรง กรณีติดเชื้อไม่มีอาการ อาการน้อย ไม่มีโรคประจำตัว หรือภาวะครรภ์เสี่ยงสูง สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ (Home Isolation) โดยขอให้งดเยี่ยมระหว่างกักตัว รักษาระยะห่างในครอบครัว แยกห้องพักของใช้ส่วนตัว ในห้องควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก
ทั้งนี้ไม่แนะนำให้อยู่ร่วมกันในห้องปรับอากาศที่มีระบบปิด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ แยกซักเสื้อผ้า หากแยกห้องน้ำได้จะเป็นการดี กรณีมีห้องเดียวผู้ติดเชื้อควรใช้เป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดหลังใช้ ถังขยะควรมีฝาปิดมิดชิดหรือแยกให้ชัดเจนว่าเป็นขยะติดเชื้อ
อาการเฝ้าระวัง กรณีแยกกักตัวที่บ้าน
นพ.เอกชัย กล่าวถึงอาการที่ควรเฝ้าระวังในกรณีแยกกักตัวที่บ้าน โดยหากมีอาการให้รีบติดต่อแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ฝากครรภ์ ท้องแข็งบ่อย เลือดออกทางช่องคลอด น้ำใสๆ ไหลออกทางช่องคลอด หรือมีอาการน้ำเดิน อาการครรภ์เป็นพิษ มีความดันสูงเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ แขนขาบวม เป็นต้น
ส่วนอาการที่ควรแจ้งแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที คือ กลุ่มผู้ป่วยสีแดงที่มีอาการรุนแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาตัวโดยเร็ว ระบบหายใจมีปัญหารุนแรงทำให้หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ไข้สูง ไอบ่อย ๆ ปอดอักเสบรุนแรง แน่นหน้าอกตลอดเวลาและหายใจเจ็บหน้าอก ตอบสนองช้า หรือไม่รู้สึกตัว
นอกจากนี้ แนะนำให้สตรีตั้งครรภ์นอนตะแคงซ้ายเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี พยายามขยับขาป้องกันลิ่มเลือด และดื่มน้ำมากๆ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องผ่าคลอดทุกคน โดยให้เป็นไปตามข้อบ่งชี้สูติกรรมที่แพทย์เป็นผู้พิจารณา เช่น เด็กตัวใหญ่ มีภาวะเครียด จำเป็นต้องรีบผ่าตัด
อุ้มลูกและให้นมจากเต้าได้
นพ.เอกชัย กล่าวว่า หลังคลอดของหญิงติดเชื้อโควิด-19 สามารถกอดหรืออุ้มลูกได้หรือไม่นั้น เริ่มแรกจะมีการแยกลูกออกไปตรวจหาเชื้อไวรัสก่อนหากลูกไม่พบเชื้อแม่สามารถกอดและอุ้มลูกได้แต่ต้องสวมหน้ากาก ล้างมือก่อนและหลังจับตัวลูก เน้นย้ำว่างดหอมแก้มลูกไม่ไอหรือจามใส่ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แต่หากพบว่าลูกติดเชื้อรุนแรงจะต้องแยกไปรักษาที่หอผู้ป่วยเด็กแรกเกิด ส่วนกรณีหากลูกติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรืออาการน้อย และแม่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยก็ไม่จำเป็นต้องแยกจากแม่ยังสามารถอุ้มลูกได้
ส่วนกรณีแม่ติดเชื้อจะให้ลูกดูดนมจากเต้าได้หรือไม่นั้น สามารถให้ได้แต่ต้องระวังไม่ให้ลูกติดเชื้อ โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก่อนและหลังจับตัวลูก หลีกเลี่ยงการไอหรือจามขณะให้ลูกดูดนม อาจเลือกใช้วิธีปั้มนมออกมา แล้วให้ญาติหรือพี่เลี้ยงนำไปให้ลูกกิน
นพ.เอกชัย ยังย้ำถึงยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า ไม่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะไตรมาสแรกและหญิงให้นมลูก เพราะอาจจะมีผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งกรณีที่มีข้อบ่งชี้จำเป็นต้องให้ยาส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาเรมเดซีเวียร์ แต่กรณีบางพื้นที่ไม่มียาเพียงพอต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ ส่วนใหญ่จะให้ได้ในการตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย แต่ทั้งนี้ต้องดูเป็นคนไป