วันนี้ (9 มี.ค.2565) เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) , ปอศ. พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีทลายแหล่งจำหน่ายเครื่องสำอางปลอมยี่ห้อดังจำนวนมาก โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลางจำนวน 19 ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ มูลค่ากว่า 30,000,000 บาท
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. รับแจ้งจากผู้บริโภคจำนวนมากว่าพบการจำหน่ายเครื่องสำอางยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และด้อยคุณภาพ ผ่านทางออนไลน์ จึงสืบสวนจนทราบว่า บ้านเช่าที่มีคนจีนเช่าเป็นแหล่งเก็บสินค้าปลอมและด้อยคุณภาพ จำนวน 3 แห่ง โดยสินค้าดังกล่าวได้นำมาโฆษณาขายทางออนไลน์ ในราคาที่ถูกมากกว่าปกติ
ต่อมาในวันที่ 7 มี.ค.2565 กก.4 บก.ปคบ., กก.1 บก.ปอศ. ได้ร่วมกับ อย. ในการเข้าค้น 3 จุด รายละเอียดคือ
1.เจ้าหน้าที่นำหมายค้นของศาลจังหวัดมีนบุรี เข้าค้นบ้านเช่า ในซอยสัมมากร แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ พบคนสัญชาติจีน 2 คน แสดงตนเป็นผู้ดูแลบ้านหลังดังกล่าว จากการตรวจสอบพบเป็นสถานที่เก็บสินค้า และแพ็คบรรจุสินค้าส่งให้กับลูกค้า จากนั้นตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอมยี่ห้อดังและด้อยคุณภาพ และตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอม รวม 19 รายการ
2.เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นของศาลแขวงพระนครเหนือ เข้าค้นบ้านเช่า ในซอยรามคำแหง 76 แยก 2 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพ ตรวจยึดเครื่องสำอางปลอมยี่ห้อดังและด้อยคุณภาพ และตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอม รวม 13 รายการ
3.เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นของศาลแขวงพระนครเหนือ เข้าค้นบ้านเช่า ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพ โดยตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอม รวม 12 รายการ
จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมด พบมูลค่าสินค้ากว่า 30 ล้านบาท จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนกก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีตามกฎหมาย เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม 1.พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ฐาน จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมปลอม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ เป็นการจับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ที่ลักลอบปลอมที่มีเครื่องหมายการค้า และนำเอาเลขที่ใบรับแจ้งของผู้อื่นมาใช้ จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม
จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวัง ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีราคาถูกเกินกว่าปกติ หรือโฆษณาโปรโมชั่นการตลาด ที่ราคาลดลงจนไม่น่าเป็นไปได้ เช่น ลด 50 -70 % , ซื้อ 1 แถม 2, สินค้า Pre Order กล่าวอ้างซื้อตัดล็อต หรือเป็นของแท้จากต่างประเทศ ไม่เสียภาษีจึงราคาถูก เป็นต้น
ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ หน้าพังได้ ฉะนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวัง และไตร่ตรองให้รอบคอบ และขอเตือนผู้บริโภคก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th ก่อนทุกครั้ง ไม่ควรซื้อเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง ไม่มีฉลาก หรือแสดงฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ หรือราคาถูกเกินจริง