วันนี้ (10 มี.ค.2565) น.ส.ธัชสุภา วณิชยกุลวงศ์ อายุ 33 ปี ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอส ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา โรงพยาบาลปทุมธานี ได้โทรศัพท์แจ้งพี่สาวว่าพ่ออาการทรุดหนัก และเดินทางมาดูใจที่โรงพยาบาล พี่สาวจึงได้โทรหาเธอเพื่อเดินทางไปหาพ่อก่อน เมื่อไปถึงโรงพยาบาลกลับพบว่า เตียงที่เขียนชื่อพ่อไว้ มีผู้ป่วยชายที่หน้าตาไม่เหมือนพ่อ จึงได้แจ้งพยาบาลว่า "นี่ไม่ใช่พ่อเรา"
พยาบาลบอกว่า ญาติอาจจะจำผู้ป่วยไม่ได้ เพราะผู้ป่วยมีอาการหนักและขาดสารอาหาร แต่เรามั่นใจว่าผู้ชายคนนี้หน้าตาไม่เหมือนพ่อเรา จึงโทรไปหาพี่สาวให้มาช่วยดูอีกคน พี่ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่พ่อ
จากนั้น น.ส.ธัชสุภา ก็ได้เดินหน้าหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยการโทรไปสอบถามกับเนิร์สซิงโฮมที่ดูแลพ่ออยู่ เพราะพ่อเป็นอัลไซเมอร์จึงส่งไปให้เนิร์สซิงโฮมดูแล กระทั่งพ่อติด COVID-19 ก็ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลปทุมธานี เมื่อส่งภาพชายที่อยู่บนเตียงให้ทางเนิร์สซิงโฮมดู เขาก็ยืนยันว่า ไม่ใช่พ่อ ขณะเดียวกัน ได้ส่งรูปภาพไปให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุอีกคน ก็ได้คำตอบว่า ชายที่นอนอยู่บนเตียงพ่อขณะนี้ คือ ชายที่ถูกแจ้งว่าเสียชีวิตที่โรงพยาบาลปทุมธานีไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา
เรารู้แล้วว่าลุงคนที่บอกว่าเสียแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ และเขาใช้ชื่อพ่อของเรา เราก็ติดต่อไปหาลูกสาวเขา ส่งรูปไปให้ ลูกสาวก็ยืนยันว่า เป็นพ่อเขาจริง ๆ เขาตกใจมาก คนที่เขาเผาไปเป็นใคร เพราะเขาจัดงานศพอย่างดี ลอยอังคารไปแล้ว
น.ส.ธัชสุภา ยอมรับว่า รู้สึกคาใจกับขั้นตอนการปฏิบัติงานของโรงพยาบาล แต่เมื่อได้รับการชี้แจงจากทางโรงพยาบาลทำให้ทราบว่ามีความผิดพลาดมาตั้งแต่ช่วงป่วย COVID-19 และมีการแจ้งญาติผิดคน ซึ่งแม้จะเข้าใจว่าบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยมีความเหนื่อยล้า แต่ก็รู้สึกว่ากระบวนการทำงานยากที่จะทำความเข้าใจได้
กรณีมีผู้เสียชีวิตแต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ถ่ายรูปหรือส่งรูปให้ญาติเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งร่างผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ต้องดำเนินการด้วยการสวมถุงซิปล็อกทำให้ไม่สามารถรูปได้ว่าใครอยู่ด้านใน ส่วนนี้เป็นช่องโหว่ที่ทำให้ทางผู้เสียหายหรือญาติผู้เสียชีวิตจะมั่นใจ 100% ได้อย่างไรว่าคนที่อยู่ในนั้นเป็นญาติของตัวเองจริง ๆ เมื่อเผาศพไปแล้ว โรงพยาบาลก็ไม่เหลือหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์ตัวตนได้อีก
โรงพยาบาลสลับตัวกัน ตั้งแต่ตอนรักษา โดย 1 คนเสียชีวิตไป อาจจะเป็นพ่อของเรา แต่พยาบาลไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัด 100% ว่าคนที่เผาเป็นพ่อเรา เหลือแต่กระดูกที่ต้องไปตรวจ DNA
ขณะนี้ฝั่งลูกสาวที่จัดงานศพไปได้นำกระดูกมาให้ตำรวจแล้ว ส่วนตัวจึงนำไปพิสูจน์ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ โดยให้เทียบคู่กับ DNA ของตัวเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่า มีความเป็นไปได้ที่จะตรวจสอบเจออยู่ที่ 0.01% เนื่องจากกระดูกถูกเผาไปแล้ว และต้องใช้เวลานานกว่า 1 เดือนจึงจะทราบผล
ทั้งนี้ น.ส.ธัชสุภา ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ พร้อมแจ้งว่าจะไม่ยอมความใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ยอมรับผิด และแจ้งญาติว่าให้เรียกร้องการเยียวยาต่าง ๆ มาได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับทนายความ