วันนี้ (15 มี.ค.2565) สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และไทยพีบีเอส จัดเสวนา Stop Fake, Spread Facts "หยุดข่าวปลอมด้วยข้อเท็จจริง" ถกปัญหาและหาทางออกในการหยุดนำเสนอข่าวปลอม
ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Co Fact ประเทศไทย กล่าวถึงข่าวปลอมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ว่า ทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้สะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันข้อมูลที่เผยแพร่ก็มีที่มาหลากหลาย แม้บางครั้งจะไม่ได้เป็นต้นเหตุของข่าวปลอม แต่ก็เปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนหรือข้อมูลที่เป็นเท็จ แม้สถานการณ์เหล่านี้จะเป็นปัญหา แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ หากใครๆ ยังสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ ก็มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้เช่นกัน
ขณะที่กลไกลสำคัญคือ "สื่อ" จะต้องมีหน่วยตรวจสอบในองค์กร แต่ก็อาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง นอกจากนี้การสนับสนุนจากกองทุนต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญ รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูล ส่วนกลุ่มผู้รับสารก็ควรได้รับการกระตุ้นเตือนบ่อยๆ ด้วยเช่นกัน
สถานการณ์ที่ไม่รู้จุดจบ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ ใครที่รู้มากกว่า พร้อมกว่า อาจต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ และต้องมีกลไกที่เชื่อมโยงข้อมูลด้วย
ขณะที่นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า เฟกนิวส์เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และไม่มีทางแก้ไขได้ 100% และสิ่งที่ปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของข่าวปลอมคือ "แพลตฟอร์ม" ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน
อีกทั้งปัญหาเฟกนิว์ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือ หรือมีกลไกเพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเชื่องโยงกัน ขณะที่หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย
ฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ปล่อยข่าวปลอม
ด้านนายภูวสิษฏ์ สุขใส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส, Songkhla Focus สะท้อนมุมมองปัญหาข่าวปลอม-ข่าวลวง ว่า ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ในอาชีพสื่อสารมวลชน แต่พัฒนาการของข่าวปลอมปรากฎชัดขึ้นและรุนแรงเมื่อมีสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ และเริ่มหนักขึ้นในยุคของโซเชียลมีเดีย
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ข่าวปลอมเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความหลากลาย เป็นพื้นที่ชายแดน เป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ และเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะของการแย่งชิงมวลชน ซึ่งหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็มักจะมีข่าวปลอมเกิดขึ้นตามมาด้วย
ยกตัวอย่างเฟกนิวส์ IO หรือข่าวเฟกนิวส์จากภาครัฐ หลังๆ ก็มีขบวนการ IO ของฝ่ายตรงข้ามรัฐด้วย เป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายจะหยิบฉวยและใช้ เมื่อใดที่ทั้งการเมืองและสถานการณ์ความไม่สงบมาพร้อมกัน ปัญหานี้จะมากขึ้น
นอกจากนี้ข่าวปลอมยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กระทบความเชื่อมั่น การท่องเที่ยว การค้า-การลงทุน ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างรุนแรงในพื้นที่แถบนี้ เพราะทำให้ประชาชนเสียโอกาส
ปัจจุบันทุกคนเป็นสื่อได้ มีเพจข่าวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ขาดการดูแลและควบคุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการปล่อยเฟกนิวส์
บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหาข่าวปลอม โดยต้องมีการร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ สื่อสารมวล รวมถึงเอกชน สร้างวาระในการจัดการปัญหาและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะต้องมีผู้รับผิดชอบหลักและมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งหมดต้องมีแกนหลักเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจัดการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงสร้างทัศนะคติร่วมของคนในสั่งคม
คำต้องห้าม "เฟกนิวส์" ถูกใช้ในการเมืองเกินขอบเขต
ขณะที่นายธนภณ เรามานะชัย Trainer, Google News Initiative กล่าวถึงสถานการณ์เฟกนิวส์ในต่างประเทศ ว่า มีข้อมูลลวงหลายรูปแบบ วิธีการไม่แตกต่างกับของไทย แต่รูปแบบที่ไม่ค่อยเห็นในไทย คือ การใช้เทคโนโลยีตัดแต่งรูปภาพอย่างแนบเนียน พร้อมยกตัวอย่างกรณียูเครน มีการนำภาพเหตุการณ์เก่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาใช้ซ้ำ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ยูเครนขณะนี้
ในต่างประเทศไม่ได้ใช้คำว่า ข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ โดยสำนักข่าวต่างประเทศ และ Google News Initiative ทำข้อตกลงว่าจะเลิกใช้คำว่า "เฟกนิวส์" ถือเป็นคำต้องห้าม เนื่องจากมีการนำคำนี้ไปใช้พาดพิงทางการเมืองค่อนข้างมาก ใช้เป็นวาทะกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นเขาใช้คำว่าเฟกนิวส์โจมตีการทำงานของนักข่าวที่นำเสนอข่าวไม่ถูกใจ หรือพาดพิงการสืบสวนการทุจริตของทรัมป์
คำนี้ถูกใช้ในบริบททางการเมืองมากจน Out of Context หรือเกินเลยบริบทของคำว่าข่าวปลอม จึงควรใช้คำที่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง นั่นคือ Misinformation หรือ Disinformation ข้อมูลลวง ข้อมูลหลอก
ขณะเดียวกัน "การรู้เท่าทันสื่อ" เป็นเรื่องสำคัญ และเห็นว่าควรเป็นความรู้พื้นฐานในการเรียน หรือเป็นวิชาพื้นฐานที่อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน เพราะเป็นการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่รู้เท่าทันสื่อว่าควรเชื่ออะไร ไม่ควรเชื่ออะไร ขณะที่องค์กรสื่ออาจปรับรูปแบบการนำเสนอข่าว รวมถึงการอ้างอิงแหล่งที่มาหรือแหล่งข่าว เพื่อให้ข่าวมีความน่าเชื่อถือ
สอดคล้องกับ ผศ.ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ นักวิชาการ ที่เห็นว่าควรต้องทำความเข้าใจเรื่องการใช้คำว่าเฟกนิวส์ เพราะจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและพบปะสื่อมวลชน ปัญหาหนึ่งที่ได้รับการสะท้อนมาคือ ความเข้าใจผิดเรื่องคำว่าเฟกนิวส์
ตอนนี้คนไทยใช้คำว่าเฟกนิวส์ทุกเรื่อง ทั้งข่าวปลอม ข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่โฆษณาชวนเชื่อ ก็ใช้คำว่าเฟกนิวส์
ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ในเรื่องของคำ อาจใช้คำว่า Misinformation (ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง) หรือ Disinformation (ข้อมูลบิดเบือน) แต่ไม่ควรใช้คำว่าข่าวปลอม เพราะมีผลกระทบต่อองค์กรวิชาชีพสื่อและคนทำงานด้านสื่อ ลดทอนความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของคนทำงานในวิชาชีพนี้
ส่วนประชาชนก็ไม่ควรเสพข่าวเพียงแพลตฟอร์มเดียว และเสพสื่อออนไลน์อย่างมีสติ ขณะเดียวกันก็ควรฝึกคิดและวิเคราะห์ไปด้วย