กรณีบริษัทจัดอันความน่าเชื่อ เอสแอนด์พี ปรับลดอันดับความน่าเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ของไทย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต หลังประเมินว่า การดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จากวิกฤตโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยประคองไม่ให้หนี้ที่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบเพิ่มขึ้น แต่มาตรการก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน และยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
นอกจากนี้ ผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย–ยูเครน ส่งผลต่อการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวไทย กระทบเศรษฐกิจไทยที่เปราะบาง และไม่เสมอภาค ทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะใช้เวลาแก้ไขนานกว่าที่คาด
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ในระบบสถาบันการเงินของไทย เป็นทิศทางเดียวกับ ธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ และเป็นแนวทางช่วยลูกหนี้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนจากจำนวนลูกหนี้ในโครงการขอรับความช่วยเหลือส่วนใหญ่ สามารถกลับไปใช้หนี้ได้ตามปกติแล้ว
และแม้ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือ แต่ธนาคารพาณิชย์ของไทย ล้วนได้รับการประเมินผ่านแบบทดสอบภายใต้ภาวะวิกฤต หรือเสตรท เทส มาอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังมี อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส เรโช สูงถึงร้อยละ 20 มีเงินกันสำรองทั้งระบบมากกว่า 890,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.6 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งเพียงพอต่อการรับมือความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน และราคาหุ้นของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว ลดลงในระยะสั้น และอาจกระทบการระดมเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ พึ่งพาการระดมเงินทุนผ่านเงินฝาก และการระดมทุนจากตลาดต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนไม่สูงมากนัก แต่ไม่กระทบผู้ฝากเงิน และการช่วยเหลือลูกหนี้แต่อย่างใด