วันนี้ (26 มี.ค.2565) บรรยากาศในงานมหกรรมบางกอกอินเตอร์เนชันแนลมอเตอร์ โชว์ 2022 ประชาชนยังคงให้ความสนใจ สอบถามข้อมูลรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มียอดจองรถภายในงานสูงติดอันดับ 2 จำนวน 400 คัน ไม่รวมยอดจองผ่านระบบออนไลน์อีกว่า 700 คัน ภายในเวลาเพียง 4 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบยอดขายรถอีวีทั้งปีที่ผ่านมา จำนวน 1,000 คัน หลังบริษัทเข้าร่วมโครงการรัฐ
ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า กรมสรรพสามิตพร้อมลงนามทำสัญญากับค่ายรถฯ ทุกแห่ง และคาดว่า รถอีวี ของบริษัท ปตท. ซึ่งร่วมมือกับจีน จะพร้อมลงนามเข้าร่วมโครงการฯ เร็ว ๆ นี้ ส่วนค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป อยู่ระหว่างเตรียมการภายในบริษัท
ค่ายรถจีนได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐมากสุด
รายงานจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ระบุว่า ค่ายรถยนต์นำเข้าจากจีนอาจได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐครั้งนี้มากที่สุด เนื่องจากจีน มีแผนตั้งโรงงานรถอีวี ในอีอีซีอยู่แล้ว อีกทั้งยังได้สิทธิประโยชน์ ลดภาษีอากรขาเข้า เงินอุดหนุนจากภาครัฐ เพิ่มเติมจากการได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า ตามกรอบความร่วมมือ FTA ทำให้ค่ายรถจากจีน มีความพร้อมแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในประเทศได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นยังคงมุ่งทำตลาดรถยนต์สันดาป แต่ปรับปรุงเทคโนโลยีความปลอดภัยในการขับขี่ และลดการปล่อยมลพิษ เช่น รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าจากปฏิกิริยาเคมี หรือ Fuel cell มากกว่ารถบีอีวี เนื่องจากการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ ต้องมีปริมาณสำรองแร่ธาตุอย่างเพียงพอ และจีนเป็นแหล่งขุดค้นพบแร่ธาตุสำคัญดังกล่าวของโลก
สอดคล้องกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กล่าวว่า จีนเร่งขอรับการส่งเสริมขยายโรงงานผลิตรถยนต์ และแบตเตอรี่ในไทย ซึ่งสอดรับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ และพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตกำหนดมาตรการจ่ายเงินอุดหนุนค่ายรถยนต์ เพื่อลดราคารถบีอีอีนำเข้าทั้งคันจากต่างประเทศ ถึงปี 2566 หลังจากนี้บริษัทผู้นำเข้าต้องผลิตและประกอบในประเทศชดเชย ตามจำนวนรถที่นำเข้ามา คาดในปีแรก รัฐจะต้องใช้เงินอุดหนุนค่ายรถยนต์ในโครงการปีนี้ไม่น้อยกว่า 3 พันล้านบาท