วันนี้ (28 มี.ค.2565) นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา และ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. บุกค้นกองสลากพลัส แผงค้าสลากออนไลน์ โดยนายเสกสกล กล่าวว่า บริษัทนี้รับซื้อสลากจำนวนมาก ประกาศซื้อใบละ 90 บาท และขายเริ่มต้นใบละ 95 บาท ซึ่งเกินราคาที่กำหนด โดยการตรวจค้นพบบริษัทมีสลาก 4.4 ล้านฉบับ แต่ไม่สามารถอายัดได้ เพราะมีการซื้อขายไปแล้ว แต่ตำรวจจะเก็บข้อมูลเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของโควตา
ด้านนายพันธวัช นาควิสุทธิ์ ซีอีโอบริษัทกองสลากพลัส ยืนยันว่า บริษัทไม่ใช่ตัวการที่ทำให้สลากแพง เพราะเป็นเพียงผู้รับซื้อสลาก ได้กำไรจากส่วนต่าง เช่น ซื้อมา 90 บาท ขาย 95 บาท ส่วนตัวการที่ทำให้สลากราคาแพงมี 4 ส่วน คือ 1.การรวมชุดขาย ราคาไม่ต่ำกว่าใบละ 90 บาท 2.ผู้ได้โควตา (มือแรก) บวกกำไรและขาย 97 บาท 3.การเช่าบัตรกดซื้อสลาก (เช่าสิทธิผู้ค้ารายย่อยที่มีโควตา กดตามตู้เอทีเอ็ม) และ 4.แก๊งโกงหวยที่อ้างว่าซื้อสลากมาราคาแพง แต่ขายต่อราคาถูก จนมีคนถูกโกงจำนวนมาก
ขณะที่ รศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ระบุว่า บริษัททั้ง 2 แห่งเป็นแพลตฟอร์มทำหน้าที่ “ขายฝาก” ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่จะเอาผิดได้ต่อเมื่อขายเกินราคา ซึ่งมีโทษปรับ 10,000 บาท ส่วนผู้ค้าที่ขายสลากให้แล้วนำไปขายเกินราคา จะถูกตัดโควตา
ทั้งนี้ การตรวจสอบพบสลากใน 2 บริษัท กว่า 5 ล้านฉบับในแต่ละงวด ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีการนำสลากหมายเลขเดิมมาขายต่อ หรือ “เวียนเทียนสลาก” หรือไม่ หากพบจะเป็นความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง
ส่วนการขายสลากผ่านแอปฯ เป๋าตัง ตามแผนจะขายงวดแรก วันที่ 2 พ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามหากยังคุมราคาไม่ได้ จะดันแผนขายสลากออนไลน์ปลายปี 2565
ทำไมถึงแพง? เส้นทาง "สลากฯ" กว่าจะถึงมือผู้ซื้อ
เส้นทางสลากกินแบ่งรัฐบาลแพงขึ้นตรงไหน คำตอบคือแพงขึ้นทุกจุด เพราะมีการขายสลากเป็นทอดๆ ก่อนจะถึงมือผู้ซื้อ ในแต่ละงวดหลังสำนักงานกองสลากฯ ออกสลากฯ 100 ล้านฉบับ 70% จะจัดให้ผู้ค้ารายย่อย ซึ่งผู้ค้ารายย่อยจะซื้อผ่านตู้กด ATM โดยผู้ค้าคนหนึ่งซื้อได้ไม่เกิน 5 เล่น (500 ฉบับ) ส่วนลด 9% ราคาตกอยู่ที่ฉบับละ 70.40 บาท
ส่วนอีก 30% จะจัดให้กับผู้ค้าระบบ “โควตา” ได้แก่ องค์กร มูลนิธิ สมาคม/ผู้พิการ ราคาต้นทุนฉบับละ 68.80 / 70.40 บาท ถ้าผู้ค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ขายสลากทันทีที่ราคา 80 บาท จะมีกำไร 9 บาท
สาเหตุที่ราคาเพิ่มขึ้น เพราะนำสลากไปขายต่อให้คนกลางที่เรียกว่า ยี่ปั๊ว (มือ 2), ซาปั๊ว (มือ 3) ก็ยิ่งทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก ประเมินว่าอย่างต่ำราคาที่ผ่านการ “รวมชุด” โดย ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ก็ทำให้สลากราคาเกินใบละ 90 บาท หลังจากนั้นสลากที่ผ่านการรวมชุดจะถูกขายต่อให้ผู้ค้ารายย่อยที่ไม่มีโควตาสลาก ดังนั้นจึงทำให้สลากราคาที่ถึงมือผู้ซื้อ 90-120 บาทขึ้นไป
คำถามแรกคือ รัฐบาลแก้ไขปัญหาถูกทางหรือไม่? เมื่อรู้ว่าสลากมีราคาแพง เพราะมี “คนกลาง” ที่เรียกว่ายี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ซึ่งความเป็นจริงคือ “เจ้าใหญ่” ที่รวมเลขในแต่ละงวด เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องหาไปหาว่าคนกลางเหล่านี้เป็นใคร เพราะเป็นตัวการที่ปั่นให้ราคาสลากสูงกว่า 80 บาท
คำถามต่อมา การบุกค้นแผงค้าออนไลน์ 2 เจ้าใหญ่ เป็นการตัดกำลังคู่แข่งหรือไม่ เพราะรัฐบาลกำลังจะทำแผงค้าออนไลน์ผ่านแอปฯ เป๋าตัง
วิธีคิดของเอกชน คือ การทำแพลตฟอร์มขึ้นมาให้ผู้ค้านำสลากมาสแกน แล้วนำขึ้นแผงค้าออนไลน์ ผู้ค้าได้กำไรทันที เช่น ซื้อมา 70 บาท บวกไป 20 บาท ขายขาดให้บริษัทแผงค้าออนไลน์ บริษัทได้กำไรจาก 1.ค่าสแกน 3-5 บาท ทั้งมังกรฟ้าและกองสลากพลัส ได้ค่าสแกนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20 ล้านบาท และ 2.คือส่วนต่างราคา เช่น ซื้อมา 90 บาท ขาย 105 บาท
ขณะที่วิธีคิดของรัฐ คือ การใช้แอปฯ เป๋าตัง เป็นพื้นที่ฝากขาย เช่น แต่ละงวดจะมีเลขตาย-เลขขายไม่หมด-เลขไม่สวย มาฝากขาย แล้วล็อกราคาไม่เกิน 80 บาท วิธีนี้จะไม่จูงใจผู้ค้าเท่ากับเอกชน เพราะอาจจะได้กำไรน้อย และมีความเสี่ยงสูงหากขายไม่ได้ต้องรับผิดชอบเอง
คำถามสุดท้าย รัฐบาลบุกค้นแผงค้าออนไลน์เป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงทางการเมืองหรือไม่ ประเด็นนี้ นายเสกสกลยืนยันไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ไม่ได้ตัดท่อน้ำเลี้ยงใคร แม้จะมีอักษรย่อนักการเมืองชื่อดังอยู่เบื้องหลัง
อ่านข่าวอื่นๆ
“แรมโบ้อีสาน-พล.ต.ท.สุรเชษฐ์” บุก "มังกรฟ้า" พบสลาก 2 ล้านฉบับ
"แรมโบ้อีสาน" บุก "กองสลากพลัส" ปมขายเกินราคา-พบสลาก 4.4 ล้านฉบับ
"มังกรฟ้า" หยุดกิจการขายสลากออนไลน์ชั่วคราวเริ่ม 16 เม.ย.นี้
ผู้บริหารสลากพลัส เปิดหมดเปลือกสาเหตุสลากแพง