ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คดีแรกของไทย! ชนะคดีฟ้องหมอ-รพ.ทำสุนัขตาย

อาชญากรรม
29 มี.ค. 65
11:15
8,441
Logo Thai PBS
คดีแรกของไทย! ชนะคดีฟ้องหมอ-รพ.ทำสุนัขตาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คดีแรก! ศาลแพ่งพิพากษาคดีฟ้องหมอและโรงพยาบาลสัตว์ เรียกร้องค่าเสียหายและเยียวยาจิตใจหลังจากรักษาสุนัขตาย โดยตัดสินให้เจ้าของชนะ แม้จะยังไม่ถึงที่สุด เหลืออีก 2 ศาล แต่ก็ทำให้เห็นว่า ศาลมองสุนัข เป็นทรัพย์สินสำคัญของผู้เลี้ยง

ภาพ "เจอร์นี่" สุนัขสายพันธุ์ลาบารดอร์ วัย 11 ปี เดินเข้าห้องผ่าตัด และชะเง้อมองเจ้าของก่อนประตูปิด และผลแล็บไม่บ่งบอกว่ามี ความอ่อนแอที่จะทำให้เจอร์นี่เสียชีวิตได้ จากการส่องกล้องผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ เนื่องจากคาดว่ามีเนื้องอกในปอด เป็นเหตุผลสำคัญ ทำให้ "ธิษณา เดือนดาว" ตัดสินใจเดินหน้าฟ้องศาลแพ่งใน ปี 2562


ผ่านมา 3 ปี ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ "ธิษณา" ชนะคดี หลังจากศาลพิพากษาว่าสัตวแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด กระทำโดยประมาทและโรงพยาบาลสัตว์ซึ่งเป็นสถานที่ใช้กระทำผ่าตัดต้องรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วม และนับเป็นคดีแรกของประเทศที่เจ้าของสุนัขลุกขึ้นมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1 ล้านบาท เพราะ ธิษณา ไม่ได้มอง"เจอร์นี่" เป็นทรัพย์สิน แต่ "เจอร์นี่"  คือสมาชิกในครอบครัว มีคุณค่าทางจิตใจ


ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้พูดคุยกับ "ธิษณา" เธอพูดคุยกับเราด้วยท่าทีสบายและมีรอยยิ้ม เธอมาพร้อมกับแฟ้มเอกสารประมาณ 5 กิโลกรัม ทำให้เห็นถึงความพยายามในการสู้เพื่อเจอร์นี่ เพราะต้องศึกษาข้อกฎหมาย และสืบค้นวิธีการรักษาของสัตวแพทย์ เพื่อนำมาเป็นข้อหักล้างในชั้นศาล

ทำไปทั้งหมดไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการใช้สิทธิตามกฎหมาย และให้กรณีนี้เป็นบทเรียน กับโรงพยาบาลสัตว์ที่กำลังกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ให้มีจริยธรรมในการรักษา  


"ธิษณา" เล่าจุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องว่า หลังเจอร์นี่ตายเพียง 1 สัปดาห์ ได้เห็นการบิดเบือนข้อมูลของสัตวแพทย์และโรงพยาบาลสัตว์ และแก้ตัวอย่างไม่มีจริยธรรม ทำให้เธอใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องร้อง เพื่อให้ผู้เลี้ยงสัตว์รู้เท่าทัน แม้จะรู้ว่าการต่อสู้กับวิชาชีพแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย

การตัดสินใจยื่นฟ้อง ไม่ได้ตั้งใจเรียกร้องค่าเสียหาย หมาพี่แข็งแรงเดินเข้าห้องผ่าตัดเอง แต่การชักจูงให้ผ่าตัด โดยบอกว่าดี ไม่มีอันตราย ผลลัพธ์หมาก็ไม่ควรตาย พี่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ว่าขอให้ครอบครัวพี่ เป็นครอบครัวสุดท้ายที่จะร้องไห้


การฟ้องร้องไม่ใช่ใครจะฟ้องได้ทุกคน จึงยังไม่มีผู้เลี้ยงสัตว์ลุกขึ้นมาฟ้องร้องให้เห็นในไทย เพราะต้องมีเงินในการจ้างทนาย ต้องทนอยู่กับสภาพบอบช้ำทางจิตใจ เล่าความสูญเสียซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่นัดสืบพยานจนต้องพบจิตแพทย์

ขณะที่ทนายอากาศ วสิกชาติ ระบุว่าคดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่าง อยากให้บทเรียนกับธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ที่เป็นธุรกิจใหญ่โต ศาลได้พิจารณาอย่างละเอียด 36 หน้า ส่วนข้อดีของคดีนี้คือ การเซ็นหนังสือยินยอมในการรักษา เพราะศาลวินิจฉัยว่า หากมีหนังสือยินยอมแล้วไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้

หนังสือยินยอมใช้ได้ ต้องเป็นกรณีสุดวิสัย แต่หากเป็นกระทำกรณีประมาทเลินเล่อ ใช้อ้างอิงในชั้นศาลไม่ได้ ใช้ได้ทั้งกรณีของคนและสัตว์

แม้จะเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องร้องเพื่อสัตว์เลี้ยง แต่เห็นได้ว่าศาลมองสัตว์เป็นทรัพย์สินสำคัญของผู้เลี้ยง แต่ความเสียหายทางจิตใจยังพิสูจน์ในศาลไทยได้ยากกว่าความเสียหายทางวัตถุ แม้ทนายความจะฟ้องเป็นคดีคุ้มครองผู้บริโภค แต่ศาลยังคิดตามค่าเสียหายจริง ไม่สามารถคำนวณค่าเสียหายทางด้านจิตใจได้ เหมือนในหลาย ๆ กรณี


อย่างกรณีโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายทางจิตใจ 1 ล้านบาท แต่ศาลคิดตามความเสียหายจริง ราคาเจอร์นี่ 70,000 บาท เท่านั้น ไม่นับรวมค่าแคมเปญรณรงค์สู้เพื่อสัตว์ที่เจ้าของตั้งใจทำเพื่อสัตว์เลี้ยง รวมทั้งการอุทิศตัวเป็นคนให้คำปรึกษากับผู้เลี้ยงหลายคนที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน ผ่านเพจ "Ma Jour and Friends หมาเจ๋อและเพื่อน

สำหรับคดีนี้เป็นเพียงชัยชนะก้าวแรก คดียังไม่สิ้นสุด ทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิอุทธรณ์ แต่ก็ทำให้เห็นความยุติธรรมของศาลไทย ที่ยังให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง