ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบโควิดในกลุ่มเด็กเล็กเพิ่มขึ้น ย้ำผู้ปกครองสังเกตอาการ รีบพาไป รพ.

สังคม
5 เม.ย. 65
07:27
985
Logo Thai PBS
พบโควิดในกลุ่มเด็กเล็กเพิ่มขึ้น ย้ำผู้ปกครองสังเกตอาการ รีบพาไป รพ.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โควิดวันนี้ (5 เม.ย.) ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 21,088 คน หายป่วยกลับบ้าน 27,519 คน เสียชีวิตเพิ่ม 91 คน ด้าน สธ. เผยโควิดแพร่กลุ่มเด็กเล็กมากขึ้น ย้ำพ่อแม่เฝ้าสังเกตอาการ รีบพาไปโรงพยาบาล พร้อมแนะมาตรการป้องกันช่วงสงกรานต์

วันนี้ (5 เม.ย.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,088 คน จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 20,995 คน มาจากต่างประเทศ 93 คน ผู้ป่วยสะสม 1,534,140 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) หายป่วยกลับบ้าน 27,519 คน หายป่วยสะสม 1,313,333 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) ผู้ป่วยกำลังรักษา 250,145 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 91 คน

ขณะที่ จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,862 คน เฉลี่ยจังหวัดละ 24 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 28.3

 

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจยังเพิ่มขึ้น แม้จะยังน้อยกว่าปี 2564 แต่การมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ โดยเมื่อวานนี้มีผู้เสียชีวิต 97 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 และมีเด็กเสียชีวิต 2 คน คือ อายุ 4 เดือน และ 10 กว่าปี

"โควิด" แพร่กลุ่มเด็กเล็กมากขึ้น

ทั้งนี้ โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ในกลุ่มเด็กเล็กเพิ่มขึ้น โดยเด็กอายุ 0-4 ปี ซึ่งยังไม่สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ ในระลอกโอมิครอนพบเสียชีวิตแล้ว 27 คน ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว จึงขอให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังและสังเกตอาการเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการป่วยผิดปกติ หรือคนในบ้านเป็นผู้ป่วยโควิดหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องรีบพาเด็กที่เริ่มมีอาการป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว 

นอกจากนี้ พบว่ากลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-6 เดือน มีความเสี่ยงที่ป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนกลุ่มอายุ 5-12 ปี การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะระลอกโอมิครอนนี้มีเพียง 3 คน หรืออัตราตายน้อยกว่า 0.01% ดังนั้น กลุ่มวัยเรียนอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป การรับวัคซีนจะช่วยป้องกันการป่วยหนักได้อย่างดี

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยแล้วจะอาการหนัก 3 กลุ่ม คือ

  •  ผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยออกนอกบ้านหรือกลุ่มติดเตียง ส่วนใหญ่รับเชื้อจากผู้ดูแล ญาติในบ้าน ผู้ที่มาเยี่ยม
  • กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการไปสังสรรค์กับเพื่อน/คนรู้จัก การรวมกลุ่มทำกิจกรรม หรือไปสถานที่แออัด เช่น ตลาด ร้านอาหาร เป็นต้น
  • เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จึงต้องย้ำกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยทำงานให้ระมัดระวังเพราะเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อสูงและอาจนำไปแพร่ให้กับ 3 กลุ่มเสี่ยงนี้ได้

ส่วนสถานที่เสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดวงกว้าง คือ 1.การดื่มสุรา รับประทานอาหารร่วมกัน เนื่องจากไม่ได้สวมหน้ากาก โดยเฉพาะในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี หรือรับประทานอาหารร่วมกันในบ้าน 2.การร่วมงานหรือกิจกรรมที่มีผู้คนแออัด มาตรการควบคุมโรครัดกุมไม่เพียงพอ และ 3.ขนส่งสาธารณะ รถโดยสารที่แออัด

ป้องกันโควิด 4 ช่วง เทศกาลสงกรานต์

สำหรับมาตรการป้องกันโควิดในช่วงสงกรานต์ แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ

  • ก่อนร่วมงาน/ก่อนเดินทาง ขอให้ฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยหนัก ผลตรวจ ATK เป็นลบก่อนไปร่วมงาน สวมหน้ากากอนามัยและสังเกตว่าสถานที่ที่ไปมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ดี เช่น เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนล่วงหน้า หรือตรวจ ATK ก่อนเข้างาน เป็นต้น
  • ระหว่างเข้าร่วมงานสงกรานต์ สถานที่จัดงานส่วนใหญ่มักมีมาตรการควบคุมโรค ที่ห้ามตอนนี้คือประแป้ง ปาร์ตี้โฟม เพราะทำให้ใกล้ชิดมากเกินไป ขอให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะมีความเสี่ยงสูง
  • กิจกรรมในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน ขอให้สวมหน้ากากมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ระหว่างรับประทานอาหารเว้นระยะห่างให้มากขึ้น ใช้เวลาให้สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยง  
  • หลังกลับจากสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเองช่วง 5-7 วันแรกก่อนกลับไปทำงาน งดพบปะผู้คนจำนวนมาก และตรวจ ATK สถานประกอบการควรพิจารณาให้พนักงาน Work From Home 5-7 วันก่อนกลับเข้าไปทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง