วันนี้ (5 เม.ย.2565) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล พร้อม วิเชียร กันทาทรัพย์ ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางขุนเทียน เบอร์ 1 เดินตลาดเช้าพบปะพี่น้องประชาชน และเดินทางเข้าชมโครงการสะพานรักษ์บางขุนเทียน ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมต่อกับเส้นทางจักรยานและป่าชายเลน ก่อนจะถึงแนวคันหินที่ป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเล
ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานหลาย 10 ปี ประชาชนในพื้นที่ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า มีการขออนุมัติสร้างคันหินไปกับ กทม. มาตั้งแต่ยุค พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. ปัจจุบันเพิ่งจะมีการอนุมัติงบประมาณสร้าง "โครงการป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร" เป็นเงิน 1,410 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 30 เดือน
นายวิโรจน์ กล่าวว่า กังวลกับระยะเวลาของโครงการเกรงว่า จะกลายเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ 7 ชั่วโคตร หากตนได้รับเลือกให้บริหารงาน กทม. จะเร่งดำเนินการเร่งรัด ปรับลดระยะเวลาการทำงานให้สั้นลง ขณะเดียวกันก็จะเน้นผลักดันการปลูกป่าชายเลน ไปพร้อม ๆ กับการทำโครงสร้างอ่อนอย่างไม้ไผ่ที่ใช้เป็นแนวกันคลื่น เพื่อลดความแรงของคลื่นในการกัดเซาะชายฝั่ง เสริมกับคันหินที่กำลังก่อสร้างด้วย
นายวิโรจน์ ย้ำว่า ที่ผ่านมาประชาชนได้บริจาคที่ดินให้ กทม. เพื่อทำแนวคันหิน แต่สุดท้าย กทม.กลับยังไม่ดำเนินการทำอะไร อีกทั้งยังขอให้มีการบริจาคเพิ่มอีกเรื่อย ๆ
กทม. ต้องเร่งดำเนินการไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน เช่น การก่อสร้างสะพานและโครงการเลียบป่าชายเลน แม้จะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ แต่สิ่งก่อสร้างกลับไม่ได้คำนึงถึงการใช้สอย ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ เช่น สะพานและทางเลียบป่าชายเลนที่มีขนาดกว้างราวๆ 2 เมตร ผู้สูงอายุก็ไม่สามารถเดินบนทางเท้าได้
ขณะที่ วิเชียร ผู้สมัคร ส.ก. เบอร์ 1 บางขุนเทียน กล่าวว่า ที่นี่ประสบปัญหาหนักเรื่องการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ประชาชนไม่ได้ต้องการ บวกกับการออกแบบที่ไม่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคลองที่เชื่อมกับทะเล เส้นทางและสะพานที่ใช้เชื่อมบ้านเรือนไม่สามารถนำรถพยาบาลเข้าไปได้ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉิน สะท้อนการใช้งบแบบราชการ ไม่เข้าใจความต้องการประชาชน
หากวิโรจน์ได้เป็นผู้ว่าฯ ตนเชื่อว่าการใข้งบแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะทีมมีนโยบายงบที่ประชาชนออกแบบได้ เป็นการกันงบประมาณจำนวนหนึ่งของกรุงเทพฯ ให้ประชาชนเลือกได้ว่าจะใช้งบทำประโยชน์อะไรในชุมชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รสนา” เน้นหาเสียงผ่านออนไลน์แทนติดป้าย ระบุไม่อยากเพิ่มขยะ
"วิโรจน์" ชี้แม้มีกลุ่มเห็นต่างการเมือง แต่ทุกคนหวังเห็น กทม.ดีขึ้น
“จิ๊บ ศศิกานต์” จับมือ “วินท์” เปิดนโยบาย “กรุงเทพฯ เมืองปลอดภัย”
ปิดรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.ยอดรวม 31 คน - ส.ก. 382 คน
สนามชิง "ผู้ว่าฯ กทม." คึกคัก ผู้สมัครเดินสายเรียกคะแนน