วันนี้ (6 เม.ย.2565) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลว่า นั่งทำงานนานและใช้โทรศัพท์มือถือตลอดเวลา ทำให้ปวดชาตามมือ เท้า เสี่ยงโรคปลายประสาทอักเสบนั้น
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ พบว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลบิดเบือน
จากที่มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสุขภาพ โดยระบุว่า ใครที่กำลังมีอาการชาตามปลายนิ้ว มือหรือเท้า ต้องระวัง เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคปลายประสาทอักเสบ ซึ่งกรมการแพทย์ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า โรคเส้นประสาทถูกกดทับและโรคปลายประสาทอักเสบ ไม่ใช่โรคกลุ่มเดียวกัน มีการรักษาแตกต่างกัน และอาการชาตามปลายนิ้วมือหรือเท้าในคนที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่นานๆ หรือคนที่ใช้มือถือทั้งวัน มีสาเหตุเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ ไม่ได้เกิดจากโรคปลายประสาทอักเสบ โดยตำแหน่งของเส้นประสาทที่มีโอกาสถูกกดทับในคนที่นั่งทำงานอยู่กับที่นานๆ หรือคนที่ใช้มือถือทั้งวัน มีได้หลายตำแหน่ง ได้แก่
1. เส้นประสาทมีเดียน (median nerve) ถูกกดทับที่ข้อมือ หรือ Carpal Tunnel Syndrome พบได้บ่อยในผู้มีความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณข้อมือ มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคไทรอยด์ หรือมีการใช้มือข้างใดข้างหนึ่งซ้ำๆ และต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการชาหรือปวดที่ปลายนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ในกรณีที่มีการกดทับเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของนิ้วมือและมีกล้ามเนื้อลีบได้
2. เส้นประสาทอัลน่า (ulnar nerve) ถูกกดทับที่ข้อศอก หรือ Cubital Tunnel Syndrome สาเหตุของการกดทับเกิดจากการนั่งทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเอาข้อศอกวางบนขอบโต๊ะทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ การที่ผู้ป่วยต้องงอข้อศอกเป็นเวลานานๆ หรือเกิดการกดทับจากสาเหตุอื่น เช่น ถุงนํ้า หรือพังพืดที่บริเวณข้อศอก โดยผู้ป่วยจะมีอาการชาหรือปวดที่ปลายนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ในกรณีที่มีการกดทับเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของนิ้วมือและกล้ามเนื้อลีบได้
3. เส้นประสาทเพโรเนียว (peroneal nerve) ถูกกดทับที่บริเวณเข่า หรือ peroneal neuropathy เป็นเส้นประสาทที่ถูกกดทับคือ บริเวณข้อต่อหัวเข่าบริเวณกระดูก fibula ซึ่งมักเกิดจากการนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานานๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการชาที่ปลายนิ้วเท้า หลังเท้าและหน้าแข้งด้านนอก ในกรณีที่มีความรุนแรงผู้ป่วยจะมีอาการข้อเท้าอ่อนแรงไม่สามารถกระดกข้อเท้าได้
ดังนั้น ข้อมูลที่มีการโพสต์และแชร์ต่อในขณะนี้เป็นข้อมูลบิดเบือน พร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ ได้ที่เว็บไซต์ https://www.dms.go.th/ หรือโทร. 0-2590-6000