วันนี้ (20 เม.ย.2565) จากกรณีสาวโพสต์โซเชียล แชร์ประสบการณ์สั่งสปาเก็ตตี้แซลมอนรมควัน แต่เคี้ยวพบหางกุ้ง แพ้หนัก แน่นหน้าอก คอบวม อาเจียนจนต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนมารู้จักกับ “ภาวะแพ้อาหาร” ซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่แสดงออกทางร่างกาย อันเกิดจากภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้น ๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการซ้ำ ๆ ได้ หากได้รับอาหารที่แพ้ชนิดเดิม
ข้อมูลจากโรงพยาบาลสินแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบันภาวะแพ้อาหาร พบได้บ่อยถึงประมาณ 1-10% ของประชากร อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบภาวะแพ้อาหารในผู้ป่วยเด็ก ๆ มากกว่าผู้ใหญ่ และสามารถพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่น ๆ ได้บ่อยด้วย เช่น โรคผื่นแพ้ผิวหนัง หอบหืด และภูมิแพ้จมูกอักเสบ
อาหารที่ผู้ป่วยแพ้ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- นมวัว
- ไข่
- แป้งสาลี
- ถั่วเหลือง
- ถั่วลิสง
- ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ วอลนัท แมคคาเดเมีย
- ปลา
- อาหารทะเลได้แก่ กุ้ง ปู หอย ปลาหมึก
แพ้อาหาร จะมีอาการอะไรบ้าง?
1.อาการทางผิวหนังเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น ลมพิษฉับพลัน ตาบวมปากบวม ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้จากการสัมผัส
2.อาการทางระบบทางเดินอาหารเช่น อาเจียน ท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระมีเลือด เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น
3.อาการทางระบบทางเดินหายใจเช่น คัดจมูก น้ำมูกเรื้อรัง ไอ หายใจไม่สะดวก หอบ
4.อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือดเช่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
นอกจากนี้ ยังมีอาการแสดงอื่น ๆ ที่ต้องนึกถึงภาวะแพ้อาหาร ได้แก่ เด็กที่น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ หรือเติบโตช้าผิดปกติ ในบางครั้ง ผู้ป่วยแพ้อาหารอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง (anaphylaxis) โดยมีอาการแสดงหลายระบบพร้อมๆกันได้ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
มีอาการแพ้อย่างรุนแรง รักษาอย่างไร
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปฎิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงควรพกเอพิเนฟรินแบบฉีดไว้ติดตัว เช่น เอพิเนฟรินรูปแบบปากกา (EpiPen) ซึ่งสามารถให้ยาเข้าสู่กล้ามเนื้อต้นขาของผู้ป่วยได้ทันทีในขณะเกิดอาการ โดยผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิด รวมถึงคนในครอบครัว ควรทราบวิธีการใช้อุปกรณ์ฉีดเอพิเนฟรินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ในภาวะฉุกเฉิน หากเกิดปฎิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การฉีดเอพิเนฟรินเพื่อพยุงอาการ จากนั้นรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
แพ้อาหารหายได้หรือไม่
แม้ผู้ป่วยแพ้อาหาร อาจแสดงอาการที่ฉับพลัน อาจมีอาการที่รุนแรง หรือเรื้อรังยาวนาน รบกวนคุณภาพชีวิต แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เมื่อโตขึ้น โดยโอกาสหายจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน และขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่แพ้ด้วย อาทิ ผู้ป่วยที่แพ้นมวัว มีโอกาสหายได้ถึง 70-90%
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ การที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องว่ามีภาวะแพ้ต่ออาหารชนิดใดบ้าง เพื่อการหลีกเลี่ยงอาหารได้อย่างเหมาะสม ไม่หลีกเลี่ยงมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินภูมิคุ้มกันต่ออาหารเป็นระยะ ๆ และทดสอบการแพ้อาหารภายใต้การดูแลของแพทย์ จนกว่าผู้ป่วยจะหายแพ้ หรือมีอาการที่ดีขึ้น
ข้อมูล : โรงพยาบาลสินแพทย์, โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ทนายรณณรงค์" ชี้ร้านต้องเยียวยา ลูกค้าแจ้งแพ้กุ้ง แต่มีปนในอาหารจนเข้า รพ.
สาวพบ "หางกุ้ง" ในสปาเก็ตตี้แซลมอน แพ้หนักถูกหามส่ง รพ.