วันนี้ (23 เม.ย.2565) น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย ลงพื้นที่พบปะประชาชนชุมชนคลองเตย เขตวัฒนา เช่น ชุมชนล็อค 123 ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนแฟลต 1-10 และชุมชนน้องใหม่ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นทางการเมืองจึงมีความคุ้นเคยกับวิถีของชุมชน คุ้นเคยกับภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ของพื้นที่ และที่สำคัญยังคุ้นเคยกับประชาชนชาวคลองเตยทุกคน
น.ต.ศิธา ระบุว่า ตนมีความผูกพันกับพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อครั้งเป็น ส.ส.ในปี 2544 ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวคลองเตยมาอย่างยาวนาน จนได้รับความไว้วางใจให้เป็น ส.ส.ในเขตดังกล่าว 2 สมัยติดต่อกัน
ทุกครั้งที่พี่น้องมีความทุกข์ ตนไม่เคยละทิ้งที่จะเดินเคียงข้าง ซึ่งตนทำแบบนี้มาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็น ส.ส.เลยด้วยซ้ำ โดยครั้งหนึ่งในชุมชน คลองเตย บ้านเรือนของพี่น้องถูกไฟไหม้ใหญ่
ผมได้ลงพื้นที่และกินนอนอยู่ใต้ทางด่วนกับพี่น้องประชาชนผู้เดือดร้อน จนบ้านทุกหลังที่เสียหายไปจากไฟไหม้สามารถถูกสร้างขึ้นมาใหม่จนเสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จะได้ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ร่วมกัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตนจึงมีความผูกพันกับพี่น้องในคลองเตย และไม่เคยทิ้งพื้นที่แม้ช่วงที่โดนตัดสิทธิทางการเมือง จะไม่ได้ลงมาร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง แต่เมื่อใดที่พี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อน ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ยื่นมือเข้ามาดูแลช่วยเหลือตลอดมา
ตนเข้าใจดีว่าปัญหาของพี่น้องชาวคลองเตยเป็นอย่างไร และจะต้องแก้แบบไหนเพื่อให้ตรงตามความต้องการของชาวชุมชน ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จึงขอโอกาสให้ได้เข้าไปรับใช้พ่อแม่พี่น้องทุกคน เพื่อแก้ปัญหาคลองเตยแก้และปัญหากรุงเทพฯ
เล็งผลักดัน "กองทุนคนตัวเล็ก" แก้หนี้นอกระบบ
น.ต.ศิธา กล่าวด้วยว่า กทม.จะเป็นพื้นที่นำร่องในการผลักดันนโยบายกองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก หรือกองทุนคนตัวเล็ก ซึ่งเป็นการสร้างเครดิตประชาชนเพื่อล้างหนี้นอกระบบ โดยพี่น้องประชาชนสามารถกู้ได้ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อเดือน เพื่อเป็นเงินทุนในการตั้งตัวใช้ในยามฉุกเฉิน
กองทุนนี้จะเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเงินของพี่น้องประชาชนตลอดไป โดยสามารถเข้าถึงได้ง่ายในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
ขณะเดียวกัน ในพื้นที่คลองเตยจำเป็นต้องพัฒนา คุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
จะต้องเป็นโรงเรียนคุณภาพดีใกล้บ้าน ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เรียนรู้ในสิ่งที่สามารถออกมาสร้างอาชีพส่งเสริมการทำมาหากินได้ และต้องทำให้โรงเรียนทุกแห่งมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งทางโภชนาการและความรู้
มีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่การเสนอเชิงอุดมคติ ที่ต้องการความเป็นเลิศทางวิชาการแบบเลื่อนลอยเท่านั้น เพราะยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ ทั้งในเรื่องโอกาสและมาตรฐานของสถาบันแต่ละแห่ง จึงต้องสร้างโรงเรียนทุกแห่งให้มีมาตรฐานทัดเทียมกัน