เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2565 ยามาชิตะ โทโมฮิสะ (Tomohisa Yamashita) หรือ ยามะพี นักร้องและนักแสดงชื่อดังจากญี่ปุ่น สร้างเซอร์ไพรส์ให้แฟน ๆ ชาวไทย หลังได้เผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านอินสตาแกรม tomo.y9 ขณะเดินอยู่บนถนนในประเทศไทยที่มีสายไฟระโยงระยาง พร้อมทักทายโซเชียลว่า "ตอนนี้ผมอยู่ไทยครับ ร้อนมาก แต่ก็รู้สึกดีมาก" พร้อมกับเขียนแคปชันว่า "มาถ่ายทำที่ไทย I finally got to Thailand! SO EXCITED!"
ก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะมีรูปภาพในกองถ่ายซีรีส์เรื่อง Kami no Shizuku (Drops of God) ออกมาจากอินสตาแกรมของทีมงาน แต่เหล่าแฟนคลับก็ไม่ได้มีการตามหาว่าศิลปินหนุ่มอยู่ที่ไหน
กระทั่งล่าสุด "ยามะพี" ก็ได้ออกมาเฉลยด้วยตัวเองผ่านคลิปดังกล่าว ท่ามกลางความคิดเห็นของเหล่าแฟนคลับที่ขอให้ทุกคนให้ความเป็นส่วนตัวและขอความร่วมมือไม่ไปตามศิลปินหรือทำให้กระทบการทำงานของกองถ่าย แต่ความคิดเห็นของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วน ก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงสายไฟฟ้าระโยงระยางที่ยามะพีถ่ายติดมาด้วยในคลิป
อย่างไรก็ตาม การเดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์ของกองถ่ายจากต่างประเทศ เริ่มคึกคักอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐบาลเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ และส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ หวังเม็ดเงินมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้ นักแสดงเกาหลีชื่อดังอย่าง "คิม ซอนโฮ" พระเอกซีรีส์ Hometown cha cha cha ก็ได้เดินทางมาประเทศไทยพร้อมกับทีมงานเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "Sad Tropical" ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มที่มีความฝันอยากจะเป็นนักมวย นอกจากการมาทำงานแล้ว นักแสดงหนุ่มยังได้ท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร และได้พบปะกับเหล่าแฟนคลับที่ร่วมกันทำโปรเจ็กต์ต้อนรับด้วยป้ายโฆษณาท้ายรถตุ๊กตุ๊ก ทั้งยังได้ร่วมฉลองวันเกิดหน้าโปรเจ็กต์จอ LED ร่วมกับคิมซอนโฮอีกด้วย
ปัจจัยกองถ่ายต่างชาติเลือกไทยเป็นโลเคชัน
นอกจากกองถ่ายจากโซนเอเชีย กองถ่ายจากโซนยุโรปและอเมริกา ก็มองประเทศไทยเป็นเป้าหมายอย่างก่อนหน้านี้ที่ "รัสเซล โครว์" ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง และ แซค เอฟรอน ก็เดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Greatest Beer Run Ever เมื่อปลายปีที่แล้ว ท่ามกลางมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยที่ยังเข้มข้น สะท้อนถึงความนิยมโลเคชันในประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยสถานที่ถ่ายทำที่พร้อมรองรับคณะถ่ายทำทั้งธรรมชาติที่สวยงามทั้งทะเล ภูเขา อุทยานฯ รวมถึงสตูดิโอต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ไปจนถึงจังหวัดใหญ่ บุคลากรทีมงานชาวไทยที่มีประสบการณ์ มีทักษะ และเป็นมิตร ก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กองถ่ายจากต่างประเทศเลือกเดินทางมาประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็มีมาตรการส่งเสริมให้กองถ่ายจากต่างประเทศ เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยผ่านรูปแบบสิทธิประโยชน์การคืนเงินสูงสุด 20% โดยผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศ หากมีเงินลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 50 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์หลัก 15 % และสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมไม่เกิน 5 % ดังนี้
- หากว่าจ้างบุคลากรชาวไทยตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้เพิ่ม 3 %
- หากมีเนื้อหาส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยจะได้เพิ่ม 2 %
- หากมีการถ่ายทำในจังหวัดเมืองรองตามนโยบายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะได้เพิ่ม 3 %
- หากมีค่าใช้จ่ายในประเทศไทยที่เข้าเงื่อนไขตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป และเริ่มถ่ายทำก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จะได้เพิ่ม 5 %
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า สถิติกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 122 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 5,007 ล้านบาท ถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีการเข้ามาลงทุนของกองถ่ายต่างประเทศในประเทศไทย โดยได้มีการพิจารณาคืนเงิน (Cash Rebate) ตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ให้กับกองถ่ายต่างประเทศขนาดใหญ่จำนวน 8 เรื่อง คิดเป็นเงินคืนกว่า 220 ล้านบาท จากเงินลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 1,625 ล้านบาท