สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนายจ้างในภาคธุรกิจบริการกว่า 40 สมาคม ยื่นเรื่องต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งรัดพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำตามความเป็นจริงและเหมาะสม พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นจาก 331 บาท เป็น 492 บาททั่วประเทศ
เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากโควิด-19 ผู้ประกอบการนายจ้างบางประเภท ต้องหยุดกิจการชั่วคราว แรงงานขาดแคลน กลุ่มนักท่องเที่ยวยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบ และยังมีสถานการณ์สู้รบของประเทศเพื่อนบ้าน และสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนกับรัสเซียจึงยังไม่สมควรขึ้นในช่วงนี้
ด้านสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ เปิดเผยข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ของ 15 สภาองค์การลูกจ้าง เช่น ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยเสรีภาพในสมาคม และคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง, ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับแก้ไขเข้าสู่รัฐสภาเร่งด่วน, ให้รัฐบาลเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปฎิรูปแก้ไขประกันสังคม เช่น ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปี เป็น 15-70 ปี
ส่วนกรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ มองว่า การปรับเป็นวันละกว่า 400 บาท เป็นไปได้ยากแค่เรียกร้องให้เพิ่ม 10 บาท ก็ทำได้ยากแล้ว
ขณะที่ นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ระบุว่า ปีนี้ คสรท.ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จัดงานวันแรงงานแห่งชาติ เริ่มขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
ข้อเรียกร้องหลักคือขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 492 บาท สำหรับบุคคล แต่สำหรับครอบครัวให้ปรับเป็นวันละ 712 บาท นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าให้ได้ เพราะเป็นปัญหากับลูกจ้างมากเนื่องจากราคาข้าวของปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตัวเลข 492 บาท มองว่าเป็นการเพิ่มขึ้นตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งได้ทำการสำรวจค่าครองชีพและความจำเป็นต่างๆ ของลูกจ้างแล้ว