วันนี้ (29 เม.ย.2565) น.ส.เฌอปราง อารีย์กุล ศิลปินวง BNK48 ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า "I completed the program!" หลังเข้าร่วมโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย รุ่นที่ 3 กับเพื่อนร่วมวง น.ส.กวิสรา สิงห์ปลอด หรือ มายยู ในการเดินทางไปเยือน ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ และศูนย์ข้อมูลข่าวสาร NASA, มหาวิทยาลัยแอละแบมาแห่งเมืองฮันส์วิลล์, NASA ศูนย์การบินอวกาศนายพล Marshall, และศูนย์ประสานงานวิทยาศาสตร์ในความร่วมมือระหว่าง NASA และ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) โครงการ SERVIR ระหว่างวันที่ 21 เม.ย. - 1 พ.ค.2565
ระหว่างการเข้าร่วมโครงการ "เฌอปราง" และ "มายยู" ได้เปิดเผยภาพกิจกรรมต่าง ๆ และสิ่งที่พบเจอระหว่างเข้าร่วม US Space Camp และหลังจากนี้ ทั้งสองสาวอาจจะนำคลิปวิดีโอประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มาให้แฟนคลับได้รับชมกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนต่อไป
สำหรับคณะทำงานของโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย รุ่นที่ 3 ที่จะเดินทางไปยังเมืองฮันส์วิลล์ ของรัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA และ เป็นเมืองที่อุตสาหกรรมหลักคือ การผลิตจรวดทุกประเภท ประกอบไปด้วย นายกฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ ผศ. ดร. เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดีวิทยาลัย อุตสาหกรรม การบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นักเรียนทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย 4 คน ได้แก่ นักเรียนนายเรืออากาศ จิรภัทร คำนิล, น.ส.ชนิศา พร้อมพัฒนภักดี, นายถิรวัฒน์ บุญสร้าง และนายกันตพิสิฐ ลิ้มศุภพุฒิกุล อาจารย์สอนด้านฟิสิกส์ จากสถาบันออนดีมานด์ เอ็ดดูเคชั่น 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์ ภัทรพล ไพศาลภาณุมาศ และ อาจารย์สรณภพ เทวปฏิคม ด.ญ.พรปวีณ์ ม้วนหรีด ตัวแทนเยาวชน Artemis Generation (ประเทศไทย) และศิลปิน BNK48 ที่มีพื้นฐานและสนใจด้านวิทยาศาสตร์ 2 คน ทั้งเฌอปราง และมายยู
ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญ อีกโครงการหนึ่งที่มีเป้าหมายสำหรับเตรียมความพร้อมให้คนไทยสามารถสร้างอาชีพใหม่ในอนาคตด้านอวกาศ ตลอดจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม นวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศแบบก้าวกระโดดและจะส่งผลให้อวกาศไม่ได้ไกลอย่างที่คิด แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตลอดจนการกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจสานต่อความฝันให้คนรุ่นใหม่ขยายวงกว้างเข้ามาโลดแล่นในวงการอุตสาหกรรมอวกาศมากยิ่งขึ้น