จากกรณีสำนักข่าวอัลจาซีรา นำเสนอการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดี ถึงคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ในพื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์
วันนี้ (30 เม.ย.2565) พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นในปี 2558 ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา พล.ต.ต.ปวีณ ขณะนั้นเป็นรอง ผบช.ภ.8 เข้าร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวน ใช้เวลา 51 วัน ในการทำสำนวนจนส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด
ในวันที่ 22 มิ.ย.2558 ขยายผลจนพบผู้เกี่ยวข้อง ผู้ต้องหา 155 คน เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน ออกหมายจับ 153 หมาย มีเจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็นผู้ต้องหา 22 คน ประกอบด้วย ทหาร 5 นาย, ตำรวจ 4 นาย, ปกครอง 12 คน และเจ้าหน้าที่อนามัย 1 คน จับกุมแล้ว 120 หมาย ถอนหมาย 3 หมาย เนื่องจากเสียชีวิตระหว่างหลบหนี คงเหลือ 30 หมายจับ ที่ยังหลบหนี ผู้ต้องหาที่จับกุมได้ส่งฟ้องทั้งหมด
พล.ต.อ.รอย ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาเร่งรัดติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 30 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงผู้สนับสนุน ช่วยเหลือในการกระทำความผิด ประกอบด้วยชาวไทย และคนต่างด้าว จากการสืบสวนทราบส่วนใหญ่หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จึงมอบหมายให้ ภ.9 ตำรวจสอบสวนกลาง และกองการต่างประเทศ ร่วมกันประสานประเทศที่เกี่ยวข้อง ติดตามผู้ต้องหามาดำเนินคดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. และ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ติดตามจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการนี้ได้เพิ่มอีก 2 คน คดีนี้ตำรวจยังเกาะติด ไม่ได้ละเลย
ยืนยันไม่มีผู้ต้องหาได้ประกันชั้นสอบสวน
ส่วนกรณีที่ พล.ต.ต.ปวีณ ระบุว่า ถูกกดดันให้ช่วยเหลือ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ต้องหาสำคัญเพื่อให้ได้รับการประกันตัว พล.ต.อ.รอย กล่าวว่า คดีนี้ทำในรูปแบบคณะกรรมการ มีทั้งนายตำรวจผู้ใหญ่ในตำแหน่งสูงกว่า พล.ต.ต.ปวีณ และอัยการเป็นทีมพนักงานสอบสวน การพิจารณาในการปล่อยชั่วคราวอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
คดีนี้เป็นคดีร้ายแรง และมีอัตราโทษสูงถึงการประหารชีวิต มีผู้ต้องหาจำนวนมาก จึงต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ต้องหารายใดได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน การกล่าวอ้างว่าถูกกดดันขอให้ช่วยเหลือให้ได้รับการประกันตัว จึงเป็นไปไม่ได้
อีกทั้ง พล.ต.ต.ปวีณ ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้ประกันตัว นอกจากนี้ คดีนี้รัฐบาลให้ความสำคัญ และช่วงนั้นไทยก็ถูกจับตาเรื่องการจัดระดับ Trafficking in Persons (TIP) Report ซึ่งตอนนั้นไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 ทำให้คดีนี้เป็นที่จับตาจากหลายฝ่ายอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อการจัดระดับ ซึ่งภายหลังคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ที่เจ้าหน้าที่ไทยขยายผลจับกุบผู้ต้องหาจำนวนมาก ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลให้การจัดระดับ TIP report ของไทยขยับดีขึ้นอยู่ที่ เทียร์ 2 เฝ้าระวัง
สำหรับกรณีที่ พล.ต.ต.ปวีณ ถูกกดดัน คุกคามข่มขู่นั้น รอง ผบ.ตร. ระบุว่า พล.ต.ต.ปวีณฯ เป็นเพียงหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งคดี ผู้ควบคุมกำกับดูแลในคดีนี้ คือ พล.ต.อ.เอก ตามการมอบหมายของอัยการสูงสุด ส่วนกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง รองผบ.ตร. ระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับนายพลตำรวจ เป็นอำนาจการพิจารณาให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
มาพูดโดยข้อมูลฝ่ายเดียว โดยไม่มีอะไรรองรับ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว ทำไมต้องมาพูดในช่วงนี้ หวังผลประโยชน์อะไร เราตั้งใจทำงานปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่มาถูกดิสเครดิตโดยคนคนเดียว ... มันไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่าตรงไหนยังไม่ทำ ก็บอกมา จะได้ไปทำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
บทวิเคราะห์ : คำถามที่ไม่มีคำตอบจาก “ค้ามนุษย์โรฮิงญา”
"พล.ต.ต.ปวีณ" เปิดใจสื่อนอกถูกแทรกแซงคดีค้ามนุษย์
ย้อนคดีค้ามนุษย์ "โรฮิงญา" ถึง พล.ต.ต.ปวีณ ปัญหาที่ยังซุกใต้พรม
นายกฯ โต้ "พล.ต.ต.ปวีณ" หนีออกไปเอง ถ้าไม่พอใจให้มาร้องเรียน