วันนี้ (2 พ.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว เพื่อแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้มีเพียงพอในประเทศ โดยผ่อนปรนการนำเข้าให้คล่องตัวมากขึ้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 3 มาตราการเพื่อแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยยกเว้นมาตรการ 3:1 ชั่วคราว หรือการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.
ให้มีการเพิ่มโควตานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ WTO เพิ่มเติม จากเดิม อคส.นำเข้าได้เพียงผู้เดียวอัตราภาษีร้อยละ 20 ไม่เกิน 54,700 ตัน เป็นให้ อคส.และผู้นำเข้าทั่วไป สามารถนำเข้าได้ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. อัตราภาษีร้อยละศูนย์ ในปริมาณ 600,000 ตัน หรือร้อยละ 50 ความต้องการใช้ข้าวโพดและวัตถุดิบทดแทน
ส่วนการนำเข้าข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงข้าวบาร์เลย์ ผ่านทุกช่องทาง ต้องมีปริมาณรวมกันไม่เกิน 1.2 ล้านตัน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ค.2565 เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดโดยจะตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามการนำเข้าเป็นระยะ โดยจะเสนอ 3 มาตรการนี้ให้ ครม.พิจารณาวันที่ 3 พ.ค.นี้
ด้านนายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดด่านในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อควบคุมปริมาณการนำเข้า เนื่องจากขณะนี้มีการนำเข้าในหลายช่องทางและหลายจังหวัด จึงต้องการให้ตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่
ส่วนมาตรการที่ นบขพ.เห็นตรงกัน เชื่อว่าในระยะเวลา 3 เดือนจะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เพราะขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท แต่หากการนำเข้าวัตถุดิบส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศตกต่ำ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะขอให้งดการนำเข้าทันที พร้อมขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าไม่ให้ขึ้นราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะจะส่งผลกระทบทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค