วันที่ 1 พ.ค.2565 ที่ลานกิจกรรม ข่วงประตูท่าแพเชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล คู่ขนานกับกรุงเทพมหานคร
ภายใต้ชื่อกิจกรรม “Worker Fest! เราทุกคน คือ คนงาน, We all are workers” โดยในบริเวณงานองค์กร/กลุ่มด้านแรงงานจัดกิจกรรม ออกบูธนิทรรศการ เล่นเกมส์ การแสดงดนตรี และเดินแฟชั่นโชว์ ภายใต้แนวคิด “เราทุกคน คือ คนงาน”
วอนขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
บรรยากาศมีความคึกคัก มีแรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานเพื่อนบ้านเข้าร่วมจำนวนมาก ในซุ้มรณรงค์ของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ กล่าวถึงค่าใช้จ่ายของกลุ่มแรงงาน ได้แก่ ค่านมลูก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าทำบัตร ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าห้อง ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน ค่ารักษาพยาบาล และที่สำคัญที่สุด คือเครือข่ายแรงงานภาคเหนือเรียกร้องและต้องการ “ค่าแรงที่เป็นธรรม”
นอกจากนั้นยังมีการตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อสนับสนุนการฟ้องเพิกถอนคุณสมบัติสัญชาติไทย ในการเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตามโครงการ ม.33 เรารักกัน กิจกรรมซุ้มของกลุ่มของแรงงานภาคบริการสำรวจความเห็นในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานในด้านต่าง ๆ เป็นต้น
ขอให้ปรับทุกส่วนไม่ใช่แค่คนใช้แรงงาน
นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ผู้ประสานงานโครงการสิทธิแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และตัวแทนเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ กล่าวว่า งานในวันนี้ใช้ชื่อภาษาไทย เราทุกคนคือคนงาน เพราะเราถูกทำให้เข้าใจว่า วันนี้เป็นวันของกรรมกร หรือแรงงานระดับล่าง หรือคนที่ต้องทำงานโดยใช้แรงกายเป็นหลัก ทั้งที่คนอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นพนักงานออฟฟิศหรือทำงานภาคบริการงานอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานอิสระก็เป็นแรงงาน เป็นคนทำงานเหมือนกัน
ดังนั้นเป็นเรื่องที่คนทุกคนที่เป็นคนทำงาน ต้องออกมาร่วมกันผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาของแรงงาน ไม่ใช่บอกว่าเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเรื่องของแรงงานที่เป็นที่เป็นแรงงานที่ต้องใช้แรงกายอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างที่ต้องปรับไปสู่การมีค่าจ้างที่เป็นธรรม
วันนี้มีไฮไลท์เป็นคลิปวิดีโอ นำเสนอปรากฏการณ์ชีวิตของคนงาน ในช่วงสถานการณ์โควิด และการต่ออายุบัตรแรงงานข้ามชาติ ที่สะท้อนความยากลำบากในการเก็บเงิน เพื่อจ่ายเป็นค่าทำบัตร สะท้อนผ่านที่คนงานจำนวนมากไปทำบัตรกันในช่วงท้าย ก่อนจะครบกำหนดที่รัฐบาลประกาศ
เราพบว่ามีคนงานบางส่วนต้องหลุดออกจากระบบ เพราะไม่มีเงินที่จะไปจ่ายค่าทำบัตรแบบนั้น ฉะนั้นประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้คือ ตัวรายได้ของคนทำงานมันยังไม่มากพอ ที่สามารถเรียกว่าเป็นค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อเสนอหลัก ๆ ในงานวันนี้จึงอยู่ภายใต้ค่าจ้างที่เป็นธรรมสำหรับแรงงานในทุกทุกภาคส่วน ไม่ใช่ที่ไม่ใช่แค่ค่าจ้างขั้นต่ำแต่เป็นค่าจ้างที่ให้คนงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
เปิดโอกาสให้ต่อรองได้-มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ประเด็นที่สอง เรามองว่าแรงงานในทุกส่วนนั้น สามารถรวมกลุ่มกัน เพื่อมีอำนาจในการเจรจาต่อรองหรือนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รัฐจะต้องรับรองอนุสัญญา ILO 87, 98, 189 ถึงเรื่องการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วมเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในส่วนของแรงงานข้ามชาตินั้นกลายเป็นความจำเป็น ซึ่งไทยไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป
แนวคิดเรื่องแรงงาน คือไม่ได้จำกัดที่ตัวแรงงานไทยเท่านั้น แต่รวมถึงแรงงานข้ามชาติอื่น ๆ ที่ทำงานในประเทศไทยด้วย ฉะนั้นรัฐต้องมีมาตรการรองรับอย่างเหมาะสมทั่วถึง เช่น กรณีเรื่องการทำบัตร
สิ่งที่ทำได้เลยคือ ขยายระยะเวลาในการต่อบัตร ควรจะเป็นครั้งละสี่ปี ไม่ใช่ปีต่อปี เพราะเป็นการสร้างภาระ และควรลดขั้นตอนในการทำเอกสาร เช่น ใช้ข้อมูลทางออนไลน์ โดยไม่ต้องจำเป็นต้องพิมพ์ออกเป็นกระดาษ ต้องคอยมาเขียนมากรอกทุก ๆ ครั้งที่ มีการต่อบัตรขึ้นทะเบียนแรงงาน
ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องรอเป็นช่วง ๆ เพื่อลดการคอร์รัปชั่นหรือเรียกรับผลประโยชน์จากขบวนการนายหน้า
ข้อเรียกร้องเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ในปี 2565
1.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ
2.รับรองอนุสัญญา ILO 87, 98, 189
3.ทุกอาชีพต้องได้ประกันสังคม
4.ทุกอาชีพ ทุกรูปแบบการทำงานต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานทุกฉบับ
5.ใบอนุญาตทำงานของคนงานข้ามชาติต้องมีอายุคราวละ 4 ปี
6.ยกระดับการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นระบบดิจิทัล
7.ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
8.รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
9.ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค
10.ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการทำงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
11.สิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม