วันนี้ (3 พ.ค.2565) เจ้าหน้าที่เร่งเก็บฉากไวนิลพิธีลงนามโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ระหว่างกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ทั้งที่เดิมมีกำหนดการเชิญสื่อมวลชนมาเป็นสักขีพยาน แต่แจ้งยกเลิกในช่วงเช้าวันนี้
อธิบดีกรมธนารักษ์ ยอมรับว่า ต้านกระแสสังคมไม่ไหวและมีผู้ใหญ่แนะนำให้เลื่อนการทำสัญญาไปก่อน เพื่อทำความเข้าใจต่อปมข้อสงสัยต่าง ๆ แต่ไม่ได้กังวลต่อการถูกตรวจสอบและพร้อมเดินหน้านัดเอกชนเข้าทำสัญญาอีกครั้ง หากผู้คนในสังคมส่วนใหญ่เข้าใจ โดยมั่นใจว่ากระบวนการที่ดำเนินมาเป็นไปตามข้อกฎหมาย ครบถ้วนทุกประการ
อีกทั้งศาลปกครอง ไม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ตามคำร้องของบริษัทอิส วอร์เตอร์ ถึง 3 ครั้ง จึงไม่มีเหตุผลให้ กรมฯ ต้องชะลอโครงการ ในทางกลับกัน โดยส่วนตัว เห็นว่าการเลื่อนนัดลงนามทำสัญญา จะสร้างความสงสัยเคลือบแคลงมากกว่าและยังสุ่มเสี่ยงสร้างความเสียหายต่อรัฐ
อธิบดีกรมธนารักษ์ ยังชี้แจงสาเหตุการยกเลิกการประมูลครั้งแรกว่า กรมฯ ต้องการแก้ไขทีโออาร์ให้เกิดความชัดเจน หลังผู้เข้าประมูล คำนวณสเปกศักยภาพท่อส่งน้ำ สูงเกินกว่าผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งแก้ไขทีโออาร์ เพื่อเปิดกว้างให้ครอบคลุมเอกชนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังช่วยให้รัฐได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงขึ้น จากการประมูลครั้งที่ 1 จาก 6 พันล้านบาท เป็น 2.5 หมื่นล้านบาท โดยผู้ชนะประมูลรายใหม่ ยังเสนอเงื่อนไข คงอัตราค่าน้ำคงที่ ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ซึ่งจะช่วยผู้ใช้น้ำสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน
ขณะที่กรรมการผู้จัดการ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า บริษัท เข้าใจปมปัญหาต่างๆ จึงไม่คิดจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลังถูกเลื่อนกำหนดทำสัญญา อย่างกะทันหัน แต่ขอให้กรมฯ ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร
โดยบริษัท เสนอราคาประมูลสูงกว่าคู่แข่งทั้ง 2 ครั้ง เพื่อต้องการสร้างชื่อบริษัท และเห็นศักยภาพต่อยอดธุรกิจ จากเดิมที่เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทอิส วอร์เตอร์ มาโดยตลอด จึงไม่ใช่บริษัทใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ตามที่ถูกตั้งข้อสังเกต หรือมีความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง
ทั้งนี้ รายได้ของบริษัท อิส วอร์เตอร์ จ่ายให้กรมธนารักษ์ตั้งแต่ปี 2537-2564 เป็นเงิน 600.89 ล้านบาท ขณะที่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ณ วันทำสัญญา รัฐจะได้รับผลตอบแทนทันทีกว่า 743 ล้านบาท และผลตอบแทนที่ต้องจ่ายให้ในวันมอบทรัพย์สิน 870 ล้านบาท และตลอดสัญญา 30 ปี เป็นเงิน 2.5 หมื่นล้าน
สำหรับความคืบหน้าการพิจารณาคดีพิพาทโครงการดังกล่าว อัยการ อยู่ระหว่างรวบรวมคำให้การผู้ถูกร้องรายบุคคล จากนั้นศาลปกครองกลาง จึงจะนัดสืบหรือไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม ตามดุลพินิจของศาลตามลำดับ
ขณะที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อิส วอร์เตอร์ ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท พร้อมต่อสู้ถึงศาลปกครองสูงสุด หลังศาลยกคำร้องไม่คุ้มครองชั่วคราว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ยุทธพงศ์" เตรียมยื่นยับยั้งโครงการท่อส่งน้ำประปา 2.5 หมื่นล้าน