วันนี้ (10 พ.ค.2565) นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยถึงผลการหารือแก้ไขปัญหาวิกฤติโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา ร่วมกับนักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หลังจากผลสำรวจประชากรโลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลาตอนบน ตั้งแต่ปี 2558-2564 พบว่ามีแนวโน้มประชากรลดลง โดยในปี 2558 มีรายงานการพบประมาณ 27 ตัว แต่ปัจจุบันมีจำนวนเหลืออยู่ประมาณ 14-20 ตัว
สาเหตุการตายหลักเกิดจากการติดเครื่องมือประมงถึงร้อยละ 60 หากสามารถลดอัตราการตายจากเครื่องมือประมงให้เป็นศูนย์ คาดว่าประชากรโลมาอิรวดีจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 30 ตัว ภายใน 10 ปี
เปิดแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี 14 ตัว
อธิบดี ทช.กล่าวว่า ที่ประชุมนำเสนอร่างแผนการดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ระยะสั้น (2565-2566) มี 5 แผนงาน ประกอบด้วย การลดภัยคุกคามโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดี และจัดทำพื้นที่หวงห้าม การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการสร้างจูงใจในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี การศึกษาวิจัยโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย และการช่วยชีวิตและดูแลรักษาโลมาอิรวดีเกยตื้น
ส่วนแผนงานระยะยาว (2566 -2570) เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดี โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา การพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย
นายโสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ทช.ทำหนังสือขอความร่วมมือการปฏิบัติงานในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ไปยังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมลงนามความร่วมมือการบริหารจัดการโลมาอิรวดีระหว่าง ทช.กรมอุทยานฯ กรมเจ้าท่า กรมประมง สงขลา พัทลุง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จะทำหนังสือถึงอธิบดีกรมประมง รายงานสถานการณ์ ความวิกฤตสถานภาพโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ขอความร่วมมือกรมประมงให้งดเว้นการปล่อยพันธุ์ปลาบึกในทะเลสาบสงขลา
เนื่องจากที่ผ่านมา กรมประมง ปล่อยปลาบึกลงทะเลสาบสงขลา ทำให้มีการล่าปลาบึกเป็นอาหาร และมีข้อมูลสถิติบ่งชี้ว่าจากเดิมเคยมีโลมาอิรวดีตายเฉลี่ยปีละ 4-5 ตัว แต่หลังปล่อยปลาบึกปี 2545-51 พอปลาโตคนเริ่มจับ ในช่วงปี 2550 ตายเฉลี่ยปีละ 10 ตัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
น่าห่วง 14 ตัวสุดท้าย "โลมาอิรวดี" ทะเลสาบสงขลา