เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประกาศ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 มาตราที่ 123 ระบุไว้ว่า คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่พิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
จากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) พบว่า มีเด็กอายุแรกเกิด - 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 คน ในจำนวนนี้มี 221 คน เป็นเด็กที่เสียชีวิตขณะโดยสารรถยนต์ (เฉลี่ยปีละ 44 คน) และจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2564) พบว่า กลุ่มเด็กอายุแรกเกิด - 6 ปี ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีการใช้เบาะนิรภัยเพียง 3.46%
องค์การอนามัยโลก สนับสนุนการใช้ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 70%
นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2560 มีมติเห็นชอบ 12 เป้าหมายโลก สำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน โดยในเป้าหมายที่ 8 กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารยานยนต์ หรือใช้อุปกรณ์รัดตึงนิรภัยสำหรับเด็กที่ได้มาตรฐานให้ใกล้เคียง 100%
รูปแบบ "คาร์ซีต" ตามช่วงอายุ
นพ.โอภาส แนะนำการเลือกที่นั่งนิรภัยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยควรจัดให้มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและใช้งานอย่างถูกวิธีตลอดเวลาที่โดยสารรถยนต์ และเลือกรูปแบบคาร์ซีตและติดตั้งให้เหมาะสมตามช่วงอายุ สรีระ น้ำหนัก ส่วนสูงของเด็ก ดังนี้
- เด็กแรกเกิด-1 ปี ควรใช้คาร์ซีตสำหรับทารก ที่เป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ (Rear-facing car seat)
- เด็กอายุ 1-3 ปี ควรใช้คาร์ซีตสำหรับเด็กเล็ก ที่เป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ (Rear-facing car seat)
- เด็กอายุ 2-6 ปี ควรใช้คาร์ซีตเป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้า (Forward-facing car seat)
- เด็กอายุ 4-12 ปี ควรใช้บูสเตอร์ซีต (Booster seat) เป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้า สำหรับเด็กโตใช้ร่วมกับเข็มขัดนิรภัยปกติ (ขึ้นกับน้ำหนักและส่วนสูง)
- อายุมากกว่า 12 ปี ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ทุกตำแหน่งที่นั่งโดยสาร
นอกจากนี้ ควรเลือกคาร์ซีตที่มีมาตรฐานความปลอดภัยจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ อ่านคำแนะนำการใช้การติดตั้งอย่างละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด กรณีเลือกใช้คาร์ซีตมือสอง ควรสำรวจสภาพไม่มีรอยบุบหรือแตก สายรัดหรือเข็มขัดมีสภาพดีและอายุการใช้งานไม่ควรเกิน 6 ปี
สำหรับรถเก๋ง ควรติดตั้งคาร์ซีตสำหรับเด็กที่เบาะหลัง ไม่ควรติดตั้งที่เบาะด้านหน้าข้างคนขับ เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุเด็กอาจโดนกระแทกจากถุงลมนิรภัยได้ ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
อ่านข่าวอื่นๆ
ประกาศเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งคาร์ซีต เริ่ม ก.ย.นี้
ทางออก! "คาร์ซีต" หนุนลดภาษี-รณรงค์ก่อนบังคับใช้
“ศักดิ์สยาม” รับพิจารณาการใช้ “คาร์ซีต” ไม่ให้กระทบค่าใช้จ่าย