วันนี้ (13 พ.ค.2565) นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. สพ.ญ.กนกวรรณ ศรุตานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ร่วมทำการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า (การแพทย์ทางเลือก) เสือโคร่งเพศผู้ ชื่อลายแทง อายุ 19 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ไม่สามารถลุกนั่งหรือยืนได้ โดยได้รับความอนุเคราะห์ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมอุปกรณ์การรักษา จากโรงพยาบาลสัตว์แอนิมัลสเปซ
ภาพ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สพ.ญ.วิรินดา สมฤทธิ์ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การฝังเข็มจากโรงพยาบาลสัตว์แอนิมัลสเปซ ทำการฝังเข็มรักษาพร้อมทั้งกระตุ้นไฟฟ้าผ่านเข็มที่ทำการฝังตามจุดต่างๆ ที่สำคัญของร่างกายสัตว์ป่วย เพื่อหวังผลให้เสือโคร่งลายแทงขยับขาได้มากขึ้น มีแรงยกตัวเพื่อลุกนั่งจากการที่กล้ามเนื้อไม่ฝ่อลีบ
ภาพ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จากการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้าและการยิงคลื่นอัลตร้าซาวน์เข้ากล้ามเนื้อ ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.2565 พบว่า เสือโคร่งลายแทงสามารถขยับขาได้มากขึ้น อาการเกร็งกล้ามเนื้อขาหน้าและขาหลังลดลง ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถลุกนั่งได้เอง แต่บางช่วงสามารถลุกนั่งได้ยังไม่สามารถยืนและเดินได้
ภาพ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ด้านอาหารเสือโคร่งลายแทงกินอาหารปกติ 4 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นอาหารเฉพาะทางโรคไตและเนื้อหมูต้มสุกบดละเอียด กินน้ำปกติ ขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะปกติ การดูแลรักษา ทำการให้สารน้ำเข้าใต้ผิวหนังทุกวัน ให้สารน้ำผ่านหลอดเลือดในบางช่วง เจาะเก็บเลือดตรวจทุก 7-10 วัน กินยารักษาโรคไต ยาบำรุงตับ ยาบำรุงเลือด ในบางช่วงทำการให้ยารักษาโรคไตผ่านหลอดเลือดดำ