วันนี้ (23 พ.ค.2565) นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (Cites) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติงานกรณีโรคฝีดาษลิง
โดยมีนายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตว์แพทย์หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า นายสธน คงเงิน หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่อาคารศูนย์บริการเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายประเสริฐ กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันเพื่อหาแนวทางการป้องกันดังกล่าว
ด้านนายสัตวแพทย์ ภัทรพล กล่าวว่า ไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง อย่างไรก็ตามกรมอุทยานฯ ได้มีแผนดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังเชิงรุกและย้อนกลับไป ซึ่งที่ผ่านมากรมอุทยานฯ สำรวจและเฝ้าระวังลิงในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวก็จะเพิ่มโรคนี้ในชื่อของโรคที่เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันจะตรวจสอบประวัติลิงในพื้นที่เสี่ยงว่าลิงเหล่านี้มีสุขภาพเป็นอย่างไร ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดได้จากสารคัดหลั่ง ผู้ปฏิบัติงานในด่านตรวจสัตว์ป่าจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดและความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยสวมถุงมือในการทำงาน อาจสวมรองเท้าบูท การดูแล สุขภาวะ สุขอนามัยในพื้นที่ให้มีความสะอาดอยู่เสมอ
สำหรับประชาชนที่มีความกังวลใจในโรคดังกล่าว ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที
ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาแนวทางโดยจะเข้มงวดการตรวจสุขภาพสัตว์ป่าที่นำเข้ามาในประเทศ และนำเสนอผู้บริหารของกรมปศุสัตว์ ให้พิจารณาเพิ่มการตรวจโรคฝีดาษลิง สำหรับสัตว์ป่าที่จะนำเข้ามาจากประเทศในกลุ่มแอฟริกา ด่านตรวจสัตว์ป่า
ได้ประสานผู้ประกอบการให้ชะลอการนำเข้า เพื่อรอรับฟังมาตรการเพิ่มเติม และสำหรับสัตว์ป่าที่มีการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มแอฟริกา
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะประสานขอข้อมูลเพื่อติดต่อผู้ประกอบการ ในการสำรวจข้อมูลการเฝ้าระวังในสัตว์ป่าที่มีการนำเข้ามาแล้วต่อไป
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานงาน และดำเนินการภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสสัตว์ป่านำเข้าจากต่างประเทศ มีความเข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อโรคสัตว์สู่คนโดยให้เข้มงวดในการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง และนำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) มาปรับใช้ในการปฏิบัติงานและมาตรการให้เหมาะสม