วันนี้ (25 พ.ค.2565) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิง ว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. เริ่มพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในประเทศแถบยุโรป เชื่อมโยงการเดินทางไปทางแอฟริกา และนำเชื้อกลับมาสู่ประเทศในยุโรป ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในหลักร้อย ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ค.2565 พบการระบาดใน 18 ประเทศ มีผู้ป่วยยืนยัน 169 คน ผู้ป่วยสงสัย 88 คน รวม 257 คน
ส่วนข้อมูลทางระบาดวิทยา พบว่า ในจำนวนผู้ป่วย 123 คน เป็นชาย 122 คน หญิง 1 คน อายุ 20-59 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน ยังไม่มีการแพร่ระบาดไปยังเด็ก หรือผู้สูงอายุ โดยร้อยละ 98 เป็นผื่น ตุ่มนูน นอกจากพบผื่นบริเวณใบหน้า แขน ขา ยังพบบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ ร้อยละ 39, ปาก ร้อยละ 30 และทวารหนัก ร้อยละ 2 ขณะนี้สายพันธุ์ที่ตรวจพบเป็น West African Clade 9 คน ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ Central Afican clade ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางมาจากประเทศที่พบการแพร่ระบาด
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วย หรือผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง และไม่เคยมีรายงานโรคนี้มาก่อน จึงต้องเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้าประเทศเป็นหลัก รวมทั้งเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งทางห้องปฏิบัติการและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ทีมสอบสวนโรค และเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์
ทั้งนี้ แนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร โดยมีนิยามผู้ป่วยสงสัย คือ มีไข้ และมีอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผื่น ตุ่มนูน กระจายตามใบหน้า ลำตัว ร่วมกับมีประวัติเดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายงานการระบาด, มีประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่มีรายงานพบผู้ป่วยเข้าข่าย/ยืนยัน และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา
ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในไทย ต้องเฝ้าระวังจากนักเดินทางที่เข้าไทยเป็นหลัก
สำหรับฝีดาษลิงเป็นโรคจากสัตว์สู่คนเป็นหลัก แต่เมื่อเริ่มติดต่อจากคนสู่คน ทำให้การระบาดเพิ่มขึ้น โดยสัตว์ที่เป็นรังโรค คือ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู และลิง แต่ยังอยู่ในแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ ระยะฟักตัว อยู่ที่ 5-21 วัน ช่วง 5 วันแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ หมดแรง ปวดกล้ามเนื้อ และช่วงออกผื่น (ภายใน 1-3 สัปดาห์) เริ่มจากใบหน้า ลำตัว แขนขา ลักษณะเหมือนกันทั้งร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ แต่ในผู้ที่มีอาการรุนแรง อาจปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด