วันนี้ (27 พ.ค.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคนี้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 พ.ค.2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 344 คน (เพิ่มขึ้น 35 คน) โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 120 คน อังกฤษ 77 คน โปรตุเกส 49 คน แคนาดา 26 คน และเยอรมนี 13 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดโรค อยู่ในกลุ่มอายุ 20-59 ปี
เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง กักตัว 21 วัน
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ณ วันที่ 26 พ.ค.2565 ยังไม่พบผู้ป่วยภายในประเทศ แต่ยังต้องเฝ้าระวังและคัดกรองอย่างเข้มงวดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำหรับผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงที่มีการรายงานพบผู้ป่วย โดยให้เฝ้าระวังสังเกตอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ และรายงานเข้าสู่ระบบ Thailand pass เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ
โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae พบได้ในสัตว์หลายชนิด ไม่ใช่แค่ลิง พบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก การติดต่อจากสัตว์สู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ การติดเชื้อจากคนสู่คนเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา จะมีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ พร้อมทั้งรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด
ตรวจเคสสงสัย พบติดเชื้อเริม
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หากได้รับแจ้งว่ามีผู้สงสัยว่าจะป่วยจะตรวจสอบว่ามีการสัมผัสใครต่อหรือไม่และขอให้มาพบแพทย์ เพราะยังมีโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดได้ เช่น เริม อีสุกอีใส โดยเมื่อมีผู้ที่เข้าข่ายสงสัยจะเชิญมารับการตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร เพื่อเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ พบว่าเป็นการติดเชื้อเริม