วันนี้ (7 มิ.ย.2565) ที่ห้องประชุมชีนิมิตร สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และสำนักการระบายน้ำ ประชุมร่วมกับนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เกี่ยวกับแผนงานที่ กทม.มีโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ
ผลการหารือร่วมกัน ทาง กทม.จะจ้างกรมราชทัณฑ์ ด้วยงบประมาณ 15 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ต้องขังมาช่วยเหลืองานลอกท่อ ทำความสะอาด เปิดเส้นทางระบายน้ำจากท่อลงสู่คลอง โดยจะมีค่าแรงให้ผู้ต้องขัง เริ่มดำเนินการวันที่ 1 ก.ค.2565 แต่หากพร้อมก่อน ก็สามารถเริ่มได้เร็วขึ้น
นายชัชชาติ ระบุว่า การขอความร่วมมือและจัดซื้อจัดจ้างส่วนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ที่จะนำผู้ต้องขังมาช่วยขุดลอกท่อระบายน้ำถือเป็นเรื่องดี เพราะที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่พบชาวบ้าน ได้รับคำชื่นชมว่ากรมราชทัณฑ์ควบคุมคุณภาพการลอกท่อของผู้ต้องขังได้ดีเสมอ และที่ผ่านมาทราบว่ามีชุมชนเคยร่วมทำอาหารไปเลี้ยงผู้ต้องขังที่มาทำงานด้วย ส่วนตัวมองว่าการนำผู้ต้องขังออกมาทำงานขุดลอกท่อ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม พร้อมมีรายได้ และได้รับการพิจารณาลดโทษด้วย
นายชัชชาติ ยังได้เน้นย้ำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเหมือนบุคคลทั่วไป ทั้งส่วนของผลตอบแทนค่าแรง ความสมัครใจที่จะออกมาทำงาน ส่วนจะนำผู้ต้องขังออกมาช่วยมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้กรมราชทัณฑ์จะไปพิจารณา
สำหรับ กทม.มีจำนวนท่อระบายน้ำที่ต้องขุดลอก 6,564 กิโลเมตร แบ่งเป็นสำนักการระบายน้ำ รับผิดชอบ 2,050 กิโลเมตร สำนักงานเขต 50 เขต รับผิดชอบ 4,514 กิโลเมตร ซึ่งปีงบประมาณ 2565 ได้กำหนดให้เริ่มการขุดลอกคลองระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป มีงบประมาณในการจัดการเรื่องนี้อย่างน้อย 15 ล้านบาท และตั้งเป้าภายใน 4 เดือน ต้องขุดลอก 400 กิโลเมตร ขณะนี้จะเริ่มต้นที่ 100 กิโลเมตร ส่วนราคาการว่าจ้างนั้น ทางกรมราชทัณฑ์จะพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง
นายชัชชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่ท่ออุดตันส่วนหนึ่งมาจากการประกอบอาหารในครัวเรือน จึงขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งเศษอาหารลงตามท่อ หรือหันมาติดตั้งท่อดักไขมันตามบ้านเรือน เพื่อช่วยลดการอุดตันท่อน้ำระยะยาวได้
ด้านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้ความไว้วางใจผู้ต้องขังออกมาช่วยทำงาน หลังจากที่ไม่ได้ออกมาขุดลอกท่อแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งกรมราชทัณฑ์ให้ความสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชนทุกครั้ง ทั้งในส่วนของความสมัครใจและระบบสวัสดิการ เมื่อนำผู้ต้องขังออกมาทำประโยชน์เพื่อสังคมแล้วจะมีสวัสดิการดูแลทั้งค่าแรง อาหาร เครื่องดื่ม นอกจากผู้ต้องขังจะได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม ยังได้เป็นการปรับตัวก่อนพ้นโทษในอนาคต
นายอายุตม์ กล่าวว่า ทางกรมราชทัณฑ์จะทำการคัดเลือกนักโทษในกลุ่มชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก และดี รวมกว่า 1,000 คน จาก 10 เรือนจำ เพื่อออกมาช่วยงานขุดลอกท่อ ซึ่งทุกคนจะได้รับค่าจ้างร้อยละ 70 เก็บออมไว้ใช้หลังพ้นโทษ
ส่วนมาตรการป้องกัน COVID-19 กรมราชทัณฑ์กำหนดให้ผู้ต้องขังทุกคนต้องตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วย ATK ทั้งก่อนออกมาและกลับเข้าเรือนจำทุกครั้ง และจะไม่อนุญาตให้ไปเดินซื้อของ หรือพบญาติ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากจุดพักที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ผู้ต้องขังทุกคนจะถูกคัดเลือกมาจากเรือนจำที่พ้นการแพร่ระบาด COVID-19 และต้องรับวัคซีนครบตามกำหนด