วันนี้ (8 มิ.ย.2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมหารือเกี่ยวกับการจัดการจราจรในกรุงเทพฯ ศูนย์ควบคุมสั่งการและแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล กองบังคับการตำรวจจราจร
นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อสรุป 5 ข้อแก้ปัญหาจราจร เช่น ต้องร่วมมือกับทุกหน่วยงานอย่างเข้มข้นทั้ง กทม.กระทรวงคมนาคม ตำรวจ ขสมก.ทางด่วนและรถไฟฟ้า จัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วมโดยมีกทม. เทศกิจลงไปแก้ปัญหาแต่ละจุดอย่างเร่งด่วน โดยกทม.จะรับหน้าที่วิเคราะห์แผนที่แก้จราจรติดซ้ำซาก
นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องเทคโนโลยีถือว่าสำคัญ เพราะปัจจุบันกล้อง CCTV ของกทม. ที่มาใช้ดูแลจราจรที่ บก.02 มีแค่ 100 กว่ากล้อง จากที่กล้องทั้งหมดของกทม.มี 50,000 กว่ากล้อง ในส่วนของการจัดการจราจรใช้ตำรวจที่สี่แยก จะไม่เห็นภาพรวม
ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากแล้ว เราควรจะมีระบบที่เห็นภาพรวมของการจราจรทั้งกทม.บริหารจัดการไฟจราจรกึ่งออโตเมติก มีคนประจำจุดช่วยดูแลบางเรื่อง การจัดการโดยตัดสินใจในภาพรวมจะช่วยให้สามารถใช้ถนนและสี่แยกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันทำระบบเทคโนโลยี ที่จะมาปรับปรุงการบริหารการจราจร มีตำรวจ กทม.คมนาคม ร่วมพิจารณาระบบที่จะติดตั้ง เพื่อบริหารจัดการไฟจราจรทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ กำหนดเป้าหมายศึกษาให้เสร็จใน 1 ปี และเริ่มติดตั้ง
นอกจากนี้ในเรื่องความปลอดภัย จากกรณีหมอกระต่าย มีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยตามทางม้าลาย ซึ่งกทม.ดูด้านกายภาพ แต่เรื่องสำคัญคือการจำกัดความเร็วบนถนนในกทม. ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจำกัดความเร็วอย่างเหมาะสมทุกเส้นทางกทม.ก็จะนำข้อมูลความเสี่ยงจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มาวิเคราะห์ความเร็วจุดที่ต้องต่ำกว่า 80 กม.ต่อชม.
โดยนำมาหารือกับบชน.เพื่อกำหนดควบคุมความเร็ว ลดความเร็วในเมือง ชุมชน และเส้นทางที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ สามารถทำได้ทันทีในอำนาจของกทม.ร่วมกับบชน.ในการกำหนดความเร็วเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
เล็งบูรณาการ 37 หน่วยงานสางจราจรทั่วกทม.
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องรถจักรยานยนต์ ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่ง ต้องหาแนวทางที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย เช่น ทำเลนจักรยานยนต์ หรือ ทำจุดจอดก่อนถึงสี่แยก แยกจากรถยนต์ ต้องหารือวิศวกรรมจราจรถึงแนวทางที่เหมาะสม เพื่อลดอันตรายของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วย
ขณะนี้มีหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจราจรมากถึง 37 หน่วยงาน แบ่งความรับผิดชอบเป็นหลายส่วน ไม่มีศูนย์กลางที่ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมกันบริหารเป็นประจำ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาจราจรล่าช้า และไม่ได้รับการจัดการปัญหาอย่างเหมาะสมทันที
ดังนั้น กทม.จะจัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลาง (Command Center) ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารการจราจรเกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน จัดการจราจรโดยภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเนื้อเดียวกัน ไร้รอยต่อ โดยจัดตัวแทนเจ้าหน้าที่ กทม.เข้าร่วมทำงานกับตำรวจอย่างใกล้ชิด
สัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่จุดที่มีปัญหาการจราจร เชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันเคารพกฎจราจร มีวินัยจราจรด้วย แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาจราจรได้ ภาครัฐลุยเต็มที่ ทุกอย่างจะดีขึ้นได้