กรณีทารกรักษาตัวในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ตเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าลูกแขนซ้ายหัก แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเกิดจากอะไร จึงลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง
วานนี้ (8 มิ.ย.2565) นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผอ.โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แถลงแสดงความเสียใจและขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว และทางโรงพยาบาลทบทวนเหตุการณ์ พร้อมทั้งตั้งกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง
จากการสอบสวนพบว่าโรงพยาบาลภูเก็ต รับเด็กหญิงแรกเกิด เข้ารักษาในหอผู้ป่วยเพราะมีอาการสำลักขี้เทา หายใจเหนื่อย และมีภาวะพร่องออกซิเจน ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยรับการรักษาด้วยการให้ออกซิเจนสารน้ำทางหลอดเลือดดำ และยาปฎิชีวนะ และทารกสามารถเคลื่อนไหวแขนขาสองข้างได้ตามปกติแขนขาไม่ผิดรูป
ต่อมาวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชั่งน้ำหนักทารกยังพบว่าสามารถขยับแขนขาทั้งสองข้างได้ตามปกติ กระทั่งเวลาเวลา 22.00 น.มีการวัดสัญญาณชีพ ระดับออกชิเจน และให้นมตามเวลาพบว่าทารกดิ้น จึงห่อตัวทารกแบบตรึง 3 ตำแหน่งไว้ (แขนลำตัวและขา)
นพ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากนั้นวันที่ 6 มิ.ย.เวลา 02.00 น.เจ้าหน้าที่คลายผ้าห่อตัวเปลี่ยนเป็นห่อด้วยผ้าผืนเดียว วัดสัญญาณชีพให้นมทารก แต่ไม่ได้ประเมินการเคลื่อนไหวเพราะทากทารกยังหลับอยู่
สันนิษฐานใช้ผ้ารัดแน่นเกินจนแขนหัก-รักษาหายได้
ช่วงเวลา 09.00 น.เจ้าหน้าที่จะอาบน้ำให้ทารก พบว่าทารกไม่ขยับแขนข้างซ้าย แขนอยู่ในท่าศอกเหยียดต้นแขนบิดเข้าหาแนบกับลำตัว ไม่พบรอยฟกช้ำเขียว หรือบาดแผลบริเวณอื่นๆ แพทย์ศัลยกรรมกระดูกตรวจดูอาการ เอ็กซเรย์แขนซ้ายพบว่ากระดูกต้นแขนซ้ายหัก
แพทย์สันนิษฐานว่า สาเหตุที่ทำให้กระดูกแขนซ้ายหักมาจากการที่ห่อตรึงไว้ โดยเฉพาะบริเวณแขนที่บิดหมุนแนบลำตัวค่อนไปทางด้านหลัง และมีแรงกระแทกบริเวณศอกจากการยก-วางทารก
ส่วนของแนวทางการรักษากระดูกต้นแขนซ้ายหัก ทางแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ให้รักษาด้วยวิธีการที่ทำให้ทารกสบายตัวมากที่สุด โดยใช้วิธีการใช้ผ้าดามยึดแขนที่หักไว้กับลำตัวเด็กเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเฝือก หรือผ่าตัด เนื่องจากกระดูกของทารกจะมีการเชื่อมประสานกันเอง และจะนัดติดตามอาการหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาล
นอกจากนี้ในส่วนของการเยียวยานั้นจะเชิญตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตมาร่วมเป็นกรรมการในการพิจารณาเยียวยาช่วยเหลือตามมาตรการด้วย
ด้านแม่ของเด็กบอกว่าจากการชี้แจงของทางแพทย์นั้นยอมรับได้เพียงในระดับหนึ่ง และจะยังคงให้แพทย์ของทางโรงพยาบาลรักษาลูกต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของข้อตกตกลงต่างๆ ขอให้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งหมด เพราะเกรงว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารฯ จะมีปัญหาภายหลังเพราะยังไม่ทราบว่าลูกจะหายเมื่อไรจึงขอทำทุกอย่างไว้เป็นลายลักษณ์อักษร