วันนี้ (12 มิ.ย.2565) พรรคกล้าแถลงวิพากษ์ปัญหาวิกฤตพลังงานว่า แม้ราคาน้ำมันในไทยต่ำกว่าในประเทศกลุ่มอาเซียน แต่การอุ้มราคาพลังงานของรัฐ สร้างหนี้ให้กับกองทุนน้ำมันเดือนละ 20,000 ล้านบาท และคาดจะขาดทุนทะลุ 100,000 ล้านบาท ภายในสิ้นเดือนนี้
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า คนไทยโดนปล้นมากว่า 1 ปีแล้ว จากราคาค่ากลั่นน้ำมัน เพราะจากข้อมูลราคาค่าการกลั่นน้ำมัน
สูงถึง 8.56 บาทต่อลิตร ทั้งที่ค่ากลั่นปกติอยู่ที่ 0.87 บาทต่อลิตร เท่ากับค่ากลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และรัฐบาลก็ไม่มีคำอธิบายกับประชาชน
คนมัวแต่กังวลราคาน้ำมันดิบ แต่ประเด็นที่คนมองไม่เห็น ซึ่งเป็นปัญหาที่หนักกว่าคือ ราคาน้ำมันที่กลั่นแล้ว ที่มันสูงมาก
พรรคกล้า เสนอ 3 ประเด็นแก้ไขปัญหาราคาพลังงานเร่งด่วน คือ ควรกำหนดเพดานการกลั่น โดยเฉพาะ ปตท. เพื่อเป็นเครื่องมือที่ป้องกันการค้ากำไรเกินควร
ควรเก็บภาษีลาภลอย เพราะราคาส่วนต่างจากราคาการกลั่นน้ำมันเป็นลาภลอยให้กับบริษัท ทำให้ได้กำไรจากส่วนต่าง และควรจริงจังกับมาตรการการประหยัดการใช้พลังงาน
ในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะพิจารณาราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ ซึ่งใกล้จะเต็มเพดาน 35 บาท จากปัจจุบัน 33.94 บาทต่อลิตร ไม่รวมภาษีท้องถิ่น
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุว่าจะเสนอหลายแนวทางการดูแลราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ ทั้งการคงราคาไว้เท่าเดิม การปรับเพิ่มอีก 50 สตางค์ หรือ ปรับเพิ่มอีก 1 บาท เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลก ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ส่งผลราคากลับมาพุ่งสูงขึ้น
ส่วนค่าการกลั่นที่อยู่ระดับสูง กระทรวงพลังงานกำลังศึกษาแนวทางปรับลดค่าการกลั่นลง ซึ่งต้องศึกษาจากข้อกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทบตลาดการค้าเสรีน้ำมัน
นอกจากนี้ ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันยังต้องเผชิญค่าเงินบาที่อ่อนค่า ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่า ณ วันที่ 7 มิ.ย. เกือบ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากเมื่อปลายปี 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าด้านหนึ่งจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจ โดยหากบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 5 จะส่งผลต่อจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.40
แต่ยอมรับว่า อุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจะมีต้นทุนสูงขึ้น เช่น เหล็กแผ่น เหล็กเส้น ยารักษาโรค น้ำมันดิบ และน้ำมันสัตว์ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบปริมาณมาก ควรบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย