จากกรณีที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กถึงช่วงสุญญากาศ "กัญชา" หลังปลดล็อกจากยาเสพติด แต่ยังไม่มี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....ออกมาควบคุม โดยเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ให้ใช้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม
วันนี้ (14 มิ.ย.2565) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในระหว่างรอร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ... ซึ่งเป็นช่วงสุญญากาศ ทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รวบรวมเนื้อหาข้อกฎหมายต่างๆ ในส่วนของกัญชาจัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา ) เพื่ออุดช่วงโหว่
หัวใจหลักคือ จำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคล และวิสาหกิจชุมชน จะมีรายละเอียดการควบคุมการครอบครองต่างกัน ป้องกันการเสพ หรือใช้เพื่อสันทนาการ โดยจะเสนอปลัด สธ.
นพ.ยงยศ กล่าวว่า หากเห็นชอบกับทางเลือกนี้ จะเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ลงนาม เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้ทันที คาดว่าจัดทำร่างดังกล่าวใช้เวลาแค่ 3-5 วันก็แล้วเสร็จ
นพ.ยงยศ กล่าวว่า แนวคิดการใช้ร่างประกาศดังกล่าว เพื่อมาควบคุมป้องกันการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นจำกัดปริมาณการครอบครองกัญชา จากเดิมมีแค่ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ที่ควบคุมเรื่องควัน และกลิ่นกัญชาเป็นเหตุรำคาญเท่านั้น
ชี้ใช้กัญชารักษาโรคต้องคุม-ใช้ผิดมีโทษ
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กัญชา มีสาระสำคัญหลากหลายชนิด เช่น แคนนาบินอยด์ นำมาใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดของโรค คำแนะนำในการใช้กัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ปี 2564 กรมการแพทย์ ระบุว่า กัญชารักษา 6 โรคภาวะ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อยพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย
นอกจากนี้พบหลักฐานเชิงประจักษ์ในการช่วยควบคุมอาการ แต่ไม่ได้รักษาให้โรคหายขาดอีก 4 โรค โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลทั่วไป โรคปลอกประสาทอักเสบ ควรใช้ตามแพทย์สั่ง ประกอบกับแจ้งยาที่ใช้ส่วนตัว พร้อมค้นหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้ที่ถูกต้อง เฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด
สำหรับกัญชา มีทั้งประโยชน์และโทษข้อมูลที่จำเป็นในการกำกับดูแลกัญชา-กัญชง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบผลข้างเคียงของกัญชา เช่น ง่วงนอน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตับอักเสบ ผิวผดผื่น อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ก้าวร้าว
ขณะนี้กพย.ร่วมกับสสส.เร่งการศึกษาเรื่องของกัญชาในระยะยาวในมิติด้านประโยชน์ทางการแพทย์ มิติทางสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และมิติด้านความมั่นคงทางยาและสุขภาพ ให้มีข้อมูลความรู้ให้ประชา ชนได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการที่จะนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อไป