ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขยายเวลาสร้าง "ห้วยโสมง-แม่กวง" ปมเวนคืนที่ดิน-เพิกถอนอุทยาน

สิ่งแวดล้อม
14 มิ.ย. 65
18:27
327
Logo Thai PBS
ขยายเวลาสร้าง "ห้วยโสมง-แม่กวง" ปมเวนคืนที่ดิน-เพิกถอนอุทยาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะรัฐมนตรี มีมติขยายเวลาโครงการห้วยโสมง จ.ปราจีน วงเงิน 9,078 ล้านบาทต่ออีก 2 ปีจากเดิมสิ้นสุดปี 2565 เป็น 2567 ส่วนเขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ ขยายเป็น 17 ปี ระบุเหตุติดปัญหาเวนคืนที่ดิน และเพิกถอนเขตอุทยานฯ และช่วงโควิด เข้าทำงานไม่ได้

วันนี้ (14 มิ.ย.2565) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปราจีนบุรี กรอบวงเงิน 9,078 ล้านบาท ขยายเวลาออกไปอีก 2 ปี จากเดิมระยะเวลาดำเนินการ 13 ปี คือจากปี 2553-2565 เป็น 15 ปีสิ้นสุดโครงการปี 2567

ส่วนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ กรอบวงเงิน 15,000 ล้านบาท ขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี จากเดิมระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี จากปี 2555-2565 เป็น 16 ปี สิ้นสุดโครงการปี 2570

ทั้ง 2 โครงการเคยได้รับความเห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาแล้ว และครั้งนี้ก็ยังคงเป็นการขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ เนื่องจากปัญหาลักษณะเดิมคือ การจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา เพิกถอนพื้นที่อุทยานยังไม่แล้วเสร็จ

รวมทั้งจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่รัฐบาลมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคล ส่งผลให้ผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรเครื่องมือไม่เพียงพอ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสถานที่ก่อสร้างได้

ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาเทคนิควิธีการสำรวจพื้นที่สำหรับก่อสร้างโครงการชลประ ทานให้มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อให้วางแผน และกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างได้อย่างเหมาะสม และร่วมกับสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการชลประทาน

โดยให้มีการประเมินปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดที่อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในส่วนระยะเวลาการจัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใช้พื้นที่ เพื่อให้สามารถกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการได้อย่างเหมาะสม ลดภาระในการเสนอขออนุมัติขยายระยะเวลาโครงการในภายหลัง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งอพยพยสัตว์ป่านับพัน พ้นเขื่อนห้วยโสมง อีก 4 เดือนเริ่มกักน้ำ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง