จากเส้นทางจักรยานริมน้ำคลองสานถึงโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กับการใช้ประโยชน์ได้จริง
เส้นทางจักรยานคลองสานเป็นเส้นทางจักรยานที่ทางกรุงเทพมหานครพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะเป็นเส้นทางขนาดเล็ก แต่สามารถเชื่อมต่อกับสถานที่เก่าแก่ทั้งตะวันตกและตะวันออกหลายแห่ง โดยไม่ต้องก่อสร้างขยายพื้นที่ลงไปในน้ำทำให้เส้นนี้ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการบางส่วนว่าออกแบบการใช้ประโยชน์ได้อย่างลงตัว เหมาะกับการนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา โดยที่ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน
อรยา สูตะบุตร ประธานกลุ่มบิ๊กทรี บอกว่าตัวอย่างที่เขตคลองสานมีการปรับปรุงทั้งทางจักรยานที่ไม่ได้อยู่ริมน้ำ แต่ว่าไปเชื่อมต่อกับทางริมน้ำที่มีอยู่แล้วเป็นช่วงๆ ความไม่ต่อเนื่องนี้ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ทำให้เราผ่นเข้ามาในย่านชุมชนด้านใน ส่วนด้านนอกก็มีพื้นที่ให้ปรับปรุงฟื้นฟูได้อีก เช่น ที่เขตนี้ทำเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กๆ จะเห็นว่าระหว่างทางมีพื้นที่ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้นำมาทำได้หรือว่าส่วนของอาคารเก่า บ้านเก่า มัสยิด ถ้ามีการออกแบบภูมิทัศน์ให้เปิดพื้นที่เข้าไปเห็นข้างในและเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางจักรยานเดิมที่กว้างไม่ถึง 5 เมตร รูปแบบนี้จะเห็นเสน่ห์ของทางริมน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ลงทุนทำไปแล้ว
ทั้งนี้โครงการของรัฐบาลถูกออกแบบให้มีความกว้างของถนนริมน้ำถึง 19.5 เมตร มีชุมชนที่ถูกระบุว่าอยู่ในพื้นที่โครงการในเฟสแรกถึง 29 แห่ง ทำให้ชาวชุมชนกุฎีจีน ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนากำลังกังวลว่าการก่อสร้างโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัย
วรชัย พิลาสรมย์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ย่านกุฎีจีน เล่าความเป็นมาของเส้นทางริมน้ำย่านกุฎีจีน ฝั่งธนบุรีว่าชาวบ้านจมน้ำมาเป็นเวลาหลาย 10 ปี ตอนแรกถนนทางเดินไม่ได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์เลย เป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครเลย คนที่ได้ประโยชน์คือพวกร้านค้า คนที่ได้ผลกระทบคือคนที่อยู่อาศัยทั่วไป เป็นการเบียดบังวิถีชีวิตคนริมน้ำไป ส่วนโครงการใหม่ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาผมไม่เห็นด้วย ในอดีตการต่อเสาแพบ้านเรือนทำให้แม่น้ำตื้นเขินแคบลง การปักเสาลงแม่น้ำนานไปทำให้ดินตะกอนก่อตัวที่โคนเสาส่งผลให้แม่น้ำตื้นเขินและมีขนาดความกว้างที่แคบลง
แม้โครงการนี้ถูกระบุว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำและช่วยเพิ่มพื้นที่พักผ่อนและเส้นทางจักรยานได้ แต่แผนการก่อสร้างที่ต้องต่อเติมลงไปในแม่น้ำเพื่อขยายพื้นที่ขอบแม่น้ำ จนทำให้แม่น้ำแคบลง ทำให้ชาวชุมชนริมน้ำต่างกังวลว่างบประมาณการก่อสร้างกว่า 14,000 ล้านบาท อาจกลายเป็นเม็ดเงินมหาศาล ที่ทุ่มลงมาเพื่อทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนเก่าแก่ริมน้ำ มากกว่าประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับ