ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขบ.ติดเลขสายรถเมล์เก่าคู่เลขใหม่ อีก 1 ปี หลังคนสับสน

สังคม
21 มิ.ย. 65
14:38
1,459
Logo Thai PBS
ขบ.ติดเลขสายรถเมล์เก่าคู่เลขใหม่ อีก 1 ปี หลังคนสับสน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการขนส่งทางบก ชี้แจงข้อสงสัยปรับเลขสายรถเมล์ใหม่หลังโซเชียลวิจารณ์ ยืนยันเลขสายใหม่เป็นไปตามแผนศึกษาของ สจล. สอดคล้องแผนปฏิรูปเส้นทาง แบ่งตามโซนในพื้นที่เมือง-เข้าใจได้ง่าย เบื้องต้นติดเลขสายเดิมควบคู่สายใหม่อีก 1 ปี

วันนี้ (21 มิ.ย.2565) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรณีสื่อสังคมออนไลน์แชร์ข้อมูลและวิจารณ์ถึงโครงการปฏิรูปเส้นทาง และเกิดความสงสัยหลังจากพบว่ามีการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์จากเลขเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นเลขสายใหม่ โดยมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเห็นว่า มีความซับซ้อน จำได้ยาก เช่น รถเมล์สาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน เปลี่ยนเป็น สาย 3-35 และรถเมล์สาย 8 สะพานพุทธยอดฟ้า-ถนนนิมิตใหม่ เปลี่ยนเป็น สาย 2-38 แฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธ ซึ่งที่มาของการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ในขณะนี้

แบ่งตัวเลขสายรถเมล์ 4 โซน

แผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งศึกษาโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตั้งแต่ปี 2560 และรับฟังความคิดเห็นในเบื้องต้นไปด้วยแล้ว โดยเลขสายรถเมล์จะแบ่งเป็น 4 โซน ใช้หลักการแบ่งพื้นที่การเดินรถของจุดต้นทางตามทิศของกรุงเทพมหานคร คือ เลขแรกเป็นเลขโซน และตัวเลขหลังเป็นเลขสาย โซนที่ 1 ทิศเหนือ (กรุงเทพฯ โซนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนพหลโยธิน) ขึ้นต้นด้วย 1-เลขสาย (1-1 ถึง 1-68), โซนที่ 2 ทิศตะวันตก (กรุงเทพฯ ชั้นในและโซนตะวันตกเฉียงเหนือ) ขึ้นต้นด้วย 2–เลขสาย (2-1 ถึง 2-56), โซนที่ 3 ทิศตะวันออก (กรุงเทพฯ โซนตะวันออกเฉียงใต้ : ถนนสุขุมวิท) ขึ้นต้นด้วย 3-เลขสาย (3-1 ถึง 3-56) และโซนที่ 4 ทิศใต้ (กรุงเทพฯ โซนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ถนนเพชรเกษม) ขึ้นต้นด้วย 4-เลขสาย (4-1 ถึง 4-71)

ตัวเลขตามโซนดังกล่าว จะแตกต่างจากหมายเลขสายรถเดิมที่มีการเรียงตัวเลขสายไปเรื่อย ๆ เมื่อมีเส้นทางใหม่ก็เพิ่มตัวเลขเข้าไป ขณะที่สายรถเมล์ใหม่นี้จะมีเลขโซนอยู่ด้านหน้า โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำให้ทราบว่ารถเมล์สายนี้มีต้นทางอยู่ในพื้นที่ใด ถนนสายใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม แม้แต่ผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้รถเมล์และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็จะทราบว่าจะเดินทางจากที่ไหนไปที่ไหน ต้องขึ้นรถเมล์ในโซนใด หรือสายใด

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านปฏิรูปเส้นทางนี้ เพื่อป้องกันความสับสนของผู้ใช้บริการ จึงได้มอบหมายองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถเอกชน ใส่เลขสายเดิมควบคู่กับเลขสายใหม่กำกับหน้ารถไว้ด้วยอย่างน้อย 1 ปี จนกว่าประชาชนจะเกิดความคุ้นเคยหลังเริ่มปรับเปลี่ยนสาย รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบทั้งบนรถเมล์ ป้ายรถเมล์ และแจกแผ่นพับ

อีก 6 เดือน เปิดตัวแอปฯ แนะนำการเดินทาง

ขณะเดียวกันในอนาคต จะนำแอปพลิเคชันมาช่วยในการเดินทาง เพื่อเป็นข้อมูลการเดินทางและเกิดความสะดวกกับผู้ใช้บริการรถเมล์ในพื้นที่เมืองทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปเส้นทางฯ โดยจะนำระบบ GPS มาใช้ร่วมกับระบบในแอปพลิเคชัน และจะเปิดตัวภายใน 6 เดือนข้างหน้า

เมื่อผู้เดินทางเข้าใช้งานแอปพลิเคชันก็จะทราบว่า หากเดินทางจากต้นทางนี้ไปปลายทางที่ไหนจะใช้รถเมล์สายใด ระยะทางเท่าใด และใช้เวลาในการเดินทางเท่าใด เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบก ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการให้บริการรถเมล์ในเมือง เมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนก็จะสามารถพัฒนาไปข้างหน้าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการในอนาคตต่อไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ศักดิ์สยาม-ขสมก." แจงดรามาเปลี่ยน "ตัวเลขสายรถเมล์" คนสับสน 

รถเมล์สายไหนรอนาน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง? 

ขสมก.ขีดเส้น 15 วัน เร่งแก้ปัญหา "รถเมล์น้อย" 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง