หลังราคาแก๊สหุงต้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ในบางพื้นที่มียอดขายเตาถ่านพุ่ง อย่างโรงผลิตเตาถ่านใน จ.มหาสารคาม มียอดสั่งซื้อเตาถ่านจำนวนมาก ทำให้ต้องผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง รายได้ต่อเดือนรวมแล้วมากกว่า 100,000 บาท
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นำเสนอ "เตามหาเศรษฐี" โดยระบุว่า เตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง หรือ “เตาซุปเปอร์อั้งโล่” ซึ่งเป็นเตาที่พัฒนาขึ้นมาทดแทนเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดทั่วไป โดย มีประสิทธิภาพเชิงความร้อนมากกว่าเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดถึง 29% ถ้าหากตามบ้านเรือนหันมาใช้เตามหาเศรษฐีจะสามารถประหยัดไม้ ฟืนและถ่านที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ถึง 500-600 บาท/ครัวเรือน/ปี และช่วยลดการใช้แก๊ส LPG ในครัวเรือน
ด้วยกระแสเตาถ่านที่เกิดขึ้น ไทยพีบีเอสออนไลน์ลงพื้นที่ชุมชนบางบัว กรุงเทพมหานคร สำรวจร้านขายเตาอั้งโล่ หรือเตาถ่าน โดยร้านขายเตาถ่านแห่งหนึ่ง ระบุว่า ส่วนใหญ่คนที่ซื้อเตาถ่านจะเป็นกลุ่มที่ต้องการซื้อไปกินหมูกระทะในช่วงเทศกาล เพราะส่วนใหญ่คนในกรุงเทพฯ ใช้แก๊สในการทำอาหาร หากจะเปลี่ยนมาใช้เตาถ่านก็อาจจะไม่สะดวก
ถ้าเป็นคนอยู่ในคอนโดฯ แล้วอยากจะทอดไข่ หากใช้เตาถ่านเราต้องตื่นแต่เช้ามาก่อเตา แล้วกว่าไฟจะหมอดก็ใช้เวลานาน ไม่ใช่เรื่อง
ขณะที่ร้านขายเตาถ่านอีกแห่ง ระบุว่า เริ่มมีคนมาซื้อเตาถ่านอย่างต่อเนื่อง และมองว่าการที่แก๊สขึ้นราคาก็มีส่วนกับยอดขายเตาถ่านด้วย ส่วนใหญ่ลูกค้าหลักยังเป็นร้านอาหารที่ต้องการนำเตาถ่านไปใช้ควบคู่กับการใช้แก๊ส โดยจะใช้เตาถ่านสำหรับการต้มอาหารนาน ๆ เพื่อประหยัดแก๊ส แม้ว่าขณะนี้ราคาถ่านจะยังไม่ขึ้นราคา แต่ต้นทุนราคาเตาถ่านเริ่มปรับขึ้นแล้ว
ด้านร้านขายอาหารอีสานร้านหนึ่ง มองว่า ปกติมีค่าใช้จ่ายซื้อถ่านมาย่างอาหารเดือนละมากกว่า 3,000 บาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงอยู่บ้าง แต่ด้วยราคาค่าแก๊สที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การใช้เตาถ่านก็เป็นอีกทางเลือกในการประหยัด แต่ก็หวังว่า เมื่อแก๊สแพงขึ้นแล้ว ก็ขอให้ค่าถ่านอย่าขึ้นราคาไปด้วย ไม่ใช่นั้นอาจจะแบกรับต้นทุนไม่ไหว
อย่างไรก็ตาม การสำรวจในวันนี้ที่แม้จะมีกระแสการใช้เตาถ่าน แต่การใช้งานในครัวเรือนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนในกรุงเทพฯ อาจจะมีคนบางส่วนปรับตัวได้ในธุรกิจอาหาร ซึ่งใช้เตาถ่าน และเตาแก๊สควบคู่กันไปเพื่อลดปริมาณการใช้แก๊ส แต่ประชาชนยังเฝ้ารอว่า รัฐบาลจะมีมาตรการใดออกมาช่วยเหลือในวันที่เตาถ่านยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด