ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไม่พร้อม! สำรวจปัญหา "ดับเพลิงหัวแดง" หลังไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่

สังคม
22 มิ.ย. 65
17:30
581
Logo Thai PBS
ไม่พร้อม! สำรวจปัญหา "ดับเพลิงหัวแดง" หลังไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำรวจชุมชนบ่อนไก่ หลังไฟไหม้บ้านเสียหาย 30 หลังคา ตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุชัด ขณะที่หนึ่งในปัญหาที่ถูกโซเชียลตั้งคำถามคือความพร้อมของหัวดับเพลิงหัวแดง ที่ไม่พร้อมใช้งาน การเข้าถึงจุดต่ออุปกรณ์และความคับแคบของชุมชน

กรณีไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ บ้านเรือนเสียหาย 30 หลัง โดยผู้ประสบภัยเกือบ 200 คนได้เข้าพักที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว อาคารศูนย์สร้างสุขบ่อนไก่ ขณะที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบพื้นที่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุเพลิงไหม้

วันนี้ (22 มิ.ย.2565) จากมุมสูง ทำให้เห็นภาพความเสียหายชัดเจน อย่างบ้านหลังนี้ เดิมมี 3 ชั้น หลังไฟไหม้ชั้น 3 เสียหายทั้งหมด จากการเดินสำรวจ และภาพเหตุการณ์ที่ผู้พักอาศัยบนคอนโดมิเนียมบันทึกได้ สันนิษฐานว่าบ้านหลังที่เป็นต้นเพลิง เสียหายมากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ชั้นในของชุมชน

เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสอบความเสียหาย ในชุมชนบ่อนไก่ ตำรวจสอบปากคำไปแล้วกว่า 100 ปาก แต่ยังไม่สามารสรุปสาเหตุได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า สำรวจหม้อแปลงไฟฟ้า ตามบ้านหลังต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่า จุดไหนปลอดภัย สามารถจ่ายไฟ บรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

หลังเกิดเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ แต่มีข้อสังเกต ถึงความพร้อมของอุปกรณ์ดับเพลิง ที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ เพื่อให้การควบคุมเพลิงรวดเร็ว ลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด

อ่านข่าวเพิ่ม ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ จนท.คุมเพลิงได้แล้ว

สำรวจ "หัวดับเพลิง" อุปกรณ์ดับเพลิงชุมชนบ่อนไก่

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก โพสต์รูปหัวดับเพลิง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าหัวดับเพลิง ถูกเทปูนทับ เป็นแท่นวางเครื่องซักผ้า ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ได้รับคำยืนยันจากชาวชุมชนว่า หัวดับเพลิง หรือหัวแดงที่อยู่ด้านนอก บริเวณหน้าเครื่องซักผ้า เป็นหัวเก่า ไม่มีน้ำแล้ว

ส่วนหัวใหม่ อยู่ถัดจากหัวเก่าไป 5-10 เมตร ซึ่งเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) ช่วงที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ใช้น้ำ จากหัวใหม่ แต่ชาวชุมชนก็ตั้งคำถามว่า "หัวเก่า ที่ไม่ได้ใช้งาน ทำไมถึงไม่เอาออก"

ทีมข่าว ยังสำรวจพบว่า หัวดับเพลิงแต่ละจุดอยู่ไม่ห่างกัน แต่อยู่ห่างจากถนนที่รถดับเพลิงจอด ประ มาณ 30-50 เมตร หมายความว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องลากสาย เข้าไปในจุดเกิดเหตุ ที่อยู่ในซอยแคบ

 

และย้อนดูภาพจาก Google Map ปี 2561 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จะเห็นว่า หัวดับเพลิง อยู่ลึกเข้าไปในบริเวณที่พักอาศัย มีเสื้อผ้า มีราวตากผ้าคลุมอยู่ เทียบกับสภาพล่าสุด ที่ผู้ตรวจสอบวันนี้ พบว่าเป็นหัวดับเพลิงที่ใช้งานได้ มีน้ำ และตอนเกิดเหตุก็ใช้น้ำจากหัวนี้ด้วย

กว่าจะเข้าไปถึงหัวดับเพลิงนี้ ต้องผ่านบ้านคน หัวดับเพลิงอยู่ลึกเข้าไปในซอย แวดล้อมไปด้วยที่พัก ข้าวของ เมื่อใช้อุปกรณ์สำรวจ พบว่าหัวดับเพลิงหัวนี้ อยู่ใกล้กับบ้านที่คาดว่าน่าจะเป็นต้นเพลิง และบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้

 

หัวดับเพลิง เป็นหัวจ่ายน้ำพิเศษ ช่วยดึงน้ำจากท่อน้ำขนาดใหญ่ ที่ใช้ในการดับเพลิง ซึ่งข้อมูลการประปานครหลวง (กปน.) ปี 2565 มีหัวดับเพลิง กระจายอยู่ในกรุงเทพ และปริมณฑล (สมุทรปราการ-นนทบุรี) กว่า 28,000จุด

 

นายวีรชัย รื่นผกา ประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ยืนยันว่า ชุมชนมีหัวดับเพลิง 4 จุด และทุกจุดอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ แต่ไม่มี "ตัวเครื่องหาบน้ำ" หรือ เครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบหาบหาม 

ตัวนี้เป็นปั๊มแรงเหวี่ยง ที่ใช้สูบน้ำดับเพลิง มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา เดิม ชุมชนมี 1 เครื่อง แต่ใช้งานไม่ได้ มากว่า 10 ปีแล้ว ยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณมาให้

ประธานชุมชนเชื่อว่า ถ้ามีอุปกรณ์ตัวนี้ จะทำให้ อปพร.ของชุมชน ที่มีกว่า 30 คน สามารถช่วยดับเพลิงได้ในเบื้องต้น

 

ขณะที่ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.บอกว่า กทม.จะทบทวนวิธีการดับเพลิงภายในชุมชนใหม่ ให้สอดคล้องกับข้อจำกัด ทั้งซอยแคบ ห่างไกลแหล่งน้ำ นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. เสนอประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เปิดทางช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซม และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ จนท.คุมเพลิงได้แล้ว

"ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" สั่งถอดบทเรียนไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่

ผู้ว่าฯ กทม.ชี้ "ที่อยู่อาศัย-ห้องน้ำ" เรื่องเร่งด่วนช่วยชุมชนบ่อนไก่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง