ถ้าวันหนึ่งคุณตื่นมาแล้วตัวเองมองไม่เห็นอะไรเลย คงจะรู้สึกตกใจมาก และมีคนทั่วโลกประมาณ 10 ล้านคน กำลังเผชิญกับเหตุการณ์นี้เพราะกระจกตาขุ่น เรากำลังพัฒนากระจกตาชีวภาพ เพื่อแก้ปัญหาการรอกระจกตาบริจาค เพื่อให้คนไทยได้กลับมามองเห็นอีกครั้ง
คำพูดจาก "ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์" ซีอีโอบริษัท รีไลฟ์ จำกัด ในงานแถลงข่าว "นาสท์ด้า สตาร์ตอัป" NSTDA Startup ของ สวทช.ที่ได้เปิดตัว 9 ผลงานซึ่งได้รับการอนุมัติจาก สวทช.ในการส่งผ่านงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบธุรกิจใหม่ กลายเป็นจุดสนใจให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ ติดตามไปพูดคุยกับซีอีโอป้ายแดงคนนี้ ถึงจุดเริ่มต้นงานวิจัย ไปจนถึงความก้าวหน้าล่าสุด ก่อนที่นวัตกรรม "กระจกตาชีวภาพ" จะกลายมาเป็นความหวังใหม่ของวงการแพทย์ไทยในอนาคต
ทำไมถึงเริ่มต้นวิจัยและพัฒนากระจกตาชีวภาพ
ดร.ข้าว : ผมเป็นนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โดยได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ช่วงที่เรียนปริญญาเอก เพราะเห็นช่องว่างทางการตลาด และช่องว่างในการศึกษา ราวกับว่ากระจกตากลายเป็นเรื่องที่ถูกคนมองข้าม
ทั่วโลกมีคนรอเปลี่ยนกระจกตากว่า 10 ล้านคน แต่มีคนโชคดีได้เปลี่ยนเพียง 15% เหลืออีก 85% ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก คนไข้ในไทยบางคนต้องรอกระจกตานาน 2-3 ปี
วิธีเดียวที่จะรักษากระจกตาได้ คือ การเปลี่ยนกระจกตา แต่เมื่อเกิดข้อจำกัดขึ้น ทำให้เรามีแนวคิดที่จะพัฒนากระจกตาชีวภาพ ให้เหมือนกระจกตาทั้งความใส และความโค้ง เมื่อใส่ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) เข้าไป จะสามารถทำงานได้เหมือนกระจกตาจริง ๆ และช่วยให้คนไข้ได้รับกระจกตาเร็วขึ้น

กระจกตาชีวภาพทำมาจากวัสดุอะไร
ดร.ข้าว : ผมออกแบบวัสดุเลี้ยงเซลล์ มีรูปร่าง หน้าตาทำงานเหมือนกระจกตา เมื่อใส่เซลล์เข้าไป มันจะทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ และไกด์ไลน์เซลล์ เปลี่ยนวัสดุให้กลายเป็นกระจกตาชิ้นใหม่ เหมือนกับกระจกตาตอนที่เราเกิดใหม่เลย ทางเทคนิคเรียกว่า "ไฮโดรเจล" หรือชื่อเล่น "เจลลี่" โดยใช้เทคโนโลยีพิเศษเพื่อสร้างเส้นใยขนาดเล็ก คล้าย ๆ คอลลาเจน สานเป็นตาข่ายให้อยู่ในเจลลี่ ซึ่งมีกลไกเหมือนกระจกตาจริง ๆ
เมื่อใส่ตัวกระจกตาชีวภาพในคนไข้ ตัวสเต็มเซลล์จะค่อย ๆ กินกระจกตา แล้วกระตุ้นให้สเต็มเซลล์สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ใช้ได้ตลอดชีวิต
คุณสมบัติ - จุดเด่น กระจกตาชีวภาพ
ดร.ข้าว : เราจะทำให้ระยะเวลาในการรอกระจกตาบริจาคลดลง ตั้งใจว่า ไม่ให้เกิน 1 สัปดาห์ คนไข้ต้องได้เปลี่ยนกระจกตาใหม่ อีกส่วนคือ เราสามารถควบคุมค่าสายตาให้เหมาะสมกับความต้องการของคนไข้แต่ละคนที่กระจกตาบริจาคทั่วไปทำไม่ได้
นอกจากกระจกตาบริจาคจะมีน้อยแล้ว ปัญหาอีกอย่างที่พบ คือ กระจกตามีอายุการใช้งานที่สั้นมาก ๆ ไม่ถึง 1 สัปดาห์ก็ใช้งานไม่ได้แล้ว แต่กระบวนการเมื่อคนไข้เสียชีวิต กว่าจะมาถึงคนรับบริจาคใช้เวลานานก็อาจเสียหายก่อนได้
อีกกรณี คือ คนไข้อายุ 30 ปี ต้องเปลี่ยนกระจกตา แต่คนไข้ที่บริจาคกระจกตาอายุ 60 - 70 ปี แน่นอนว่า กระจกตาเสื่อมตามวัย เราอายุ 30 ปี แต่ได้กระจกตาอายุ 60 ปี มันก็ไม่เฟรช นี่คือข้อจำกัดที่เราอยากแก้ให้ตรงจุด

กระจกตาชีวภาพ เหมาะกับทุกคนที่ต้องเปลี่ยนกระจกตา ให้ใช้ทดแทนกระจกตาจริง ๆ ซึ่งผู้ที่ต้องเปลี่ยนกระจกตานั้น เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการได้รับบาดเจ็บ เกิดการกระแทก ถูกบาด หรือติดเชื้อจากการทำความสะอาดไม่ถูกต้องก็อาจทำให้กระจกตาขุ่นได้ เช่นเดียวกับโรคทางกรรมพันธุ์ หรือโรคจากพฤติกรรม เช่น การใช้โทรศัพท์หรือจ้องหน้าจอที่มีแสงเยอะ พฤติกรรมนี้ทำให้เกิดโรคสมัยใหม่ คือ กระจกตาโก่ง หรือ กระจกตาบางได้
ในสหรัฐฯ 50 คน เจอ 1 คน เมื่อเรามีค่าสายตาเอียง อาจบ่งบอกว่ากระจกตาเรามีปัญหา หากเราเอียงมาก ๆ มันอาจจะเป็นกระจกตาบาง และถึงจุดหนึ่งอาจต้องเปลี่ยนกระจกตา ดังนั้น โรคเกี่ยวกับกระจกตาไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กก็เป็นได้
ความคืบหน้าล่าสุด การวิจัยกระจกตาชีวภาพ
ดร.ข้าว : เราวิจัยมานาน 10 ปี อยู่ในจุดที่มีผลการทดลองที่ดีในห้องปฏิบัติการ และเข้าสู่ขั้นการทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว ด้วยความร่วมมือกับทีมคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลังเสร็จสิ้นเฟสนี้ จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การทดลองในมนุษย์เฟสแรก จึงต้องตั้งบริษัทขึ้นมา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเตรียมยื่นจดทะเบียน เพื่อสร้างโรงงานการผลิตกระจกตาชีวภาพที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการทดลองกับคนไข้
ต้องทำโรงงานที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของคน กว่าจะไปถึงจุดที่มั่นใจว่าจะใส่ให้คนไข้ ต้องผ่านการทดสอบทั้ง อย. และ FDA สหรัฐฯ ด้วย และเมื่อวันนั้นที่ได้ใช้กับคนไข้ รับประกันว่าปลอดภัย
หากทำสำเร็จ คนไทยจะเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน
ดร.ข้าว : ขณะนี้ ค่าใช้จ่ายเปลี่ยนกระจกตา สปสช.มีงบฯ ให้ประมาณ 50,000 บาทต่อ 1 ดวงตา ซึ่งความท้าทายของการเปลี่ยนกระจกตา จริง ๆ ไม่ใช่ในขั้นตอนการผ่าตัด เพราะทีมแพทย์มีประสิทธิภาพในการผ่าตัดปลอดภัยแทบจะ 100% แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ การรอกระจกตาบริจาค
เมื่อเปลี่ยนกระจกตาชีวภาพ ก็จะกลับมามองเห็นเหมือนปกติ เพราะมันคือการสร้างอวัยวะขึ้นมาใหม่ ด้วยความตั้งใจ เราจะสร้างกระจกตาชีวภาพให้คนไข้คนไทยได้ใช้ในราคาที่เอื้อมถึง หรือพยายามให้เข้าไปอยู่ในระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยได้ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น อาจต้องใช้กลไกอย่างการหาเงินจากคนที่มีกำลังซื้อ มาซัพพอร์ตคนไข้คนไทย
เราไม่อยากทำแพง มันจะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าวิจัยทำออกมาได้แล้ว แต่ไม่มีคนใช้

ขีดเส้นกี่ปี คนไทยได้ใช้กระจกตาชีวภาพ
ดร.ข้าว : เราพยายามทำเต็มที่ เพื่อให้คนไทยได้ใช้กระจกตาชีวภาพโดยเร็วที่สุด สำหรับต่างประเทศก็มีการศึกษาวิจัยกระจกตาชีวภาพอยู่เช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเฟสสัตว์ทดลอง มีเพียงเจ้าเดียวในสหรัฐฯ ที่อาจจะไปถึงการทดลองในมนุษย์เฟสแรก ส่วนไทยอยู่ในช่วงสัตว์ทดลอง และเราจะเข้าทดลองในมนุษย์เฟสแรก ภายในปีหน้า ก็ใกล้เคียงกัน และจะพยายามทำให้สำเร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี
ทุกวันนี้ยังไม่มีกระจกตาชีวภาพเกิดขึ้น และเราหวังว่าจะเป็นรายแรกของโลกในนามนักวิจัยและบริษัทสัญชาติไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สวทช.เปิดตัว “9 ดีปเทคสตาร์ทอัป” ขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่
แพลตฟอร์มคนไทย ช่วยจัดการอาหารโรงเรียน ตอบโจทย์โภชนาการ-ต้นทุน