เกิดเหตุถังบรรจุแก๊สขนาดใหญ่ร่วงลงมาใส่ตัวเรือ กลุ่มแก๊สสีเหลืองกระจายตัวปกคลุมเรือทั้งลำทันที ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงพากันวิ่งหนีออกจากบริเวณที่เกิดเหตุ โดยแก๊สสีเหลือง คือ แก๊สคลอรีน ซึ่งมีพิษรุนแรง โดยคลอรีนเมื่อทำปฏิกิริยากับความชื้นจะกลายเป็นกรดกัดกร่อนเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ ซึ่งเหตุสลดใจที่เกิดขึ้นเบื้องต้นคาดว่าสาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายเสียหายขัดข้อง
Jordan TV สื่อทางการจอร์แดน ระบุว่า เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 13 คนและบาดเจ็บอีกมากกว่า 250 คน โดยอย่างน้อย 199 คนเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการถูกพิษจากสารเคมี และมีจำนวนหนึ่งที่อาการสาหัส
ขณะที่ภาพนาทีก่อนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่กำลังใช้เครนยกถังบรรจุแก๊สคลอรีนขนาดใหญ่ เพื่อนำขึ้นเรือซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือริมทะเลแดงในจอร์แดนเพื่อส่งออกไปยัง Djibouti ก่อนที่ถังแก๊สจะร่วงลงมา โดยเบื้องต้นคาดว่า เครนขัดข้อง ส่วนเจ้าหน้าที่ของท่าเรือเปิดเผยภายหลังว่า ลวดสลิงที่ใช้ยกถังดังกล่าวขาด
เจ้าหน้าที่ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใกล้เคียงปิดประตูหน้าต่าง หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารที่พักอาศัย นอกจากนี้ยังอพยพชายหาดที่ตั้งอยู่ห่างออกไป 7 กม.และรัฐบาลจอร์แดนสั่งการตั้งคณะสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระบุว่า ภายในถังบรรจุแก๊สคลอรีน 25-30 ตัน ซึ่งแก๊สคลอรีนเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้องจะมีสีเหลืองเขียว มีกลิ่นฉุน ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง คล้ายกับสารฟอกขาว ซึ่งแม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยก็จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นฉุน แก๊สคลอรีนมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศประมาณ 2.5 เท่า ทำให้ทันทีที่เกิดการรั่วไหล แก๊สนี้จะลอยต่ำติดพื้น หากไม่มีลมพัด
การได้รับแก๊สคลอรีนในปริมาณมากทำให้เกิดอาการไออย่างรุนแรง หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดศีรษะ และยังมีผลกับดวงตา โดยหากสัมผัสเป็นเวลานานอาจจะไอเป็นเลือดได้ ในรายที่รุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด
แก๊สคลอรีนมีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้มีอาการแสบผิวหนัง เพราะเมื่อแก๊สคลอรีนสัมผัสกับความชื้นตามเยื่อบุผิวหนังจะทำให้เกิดกรดซึ่งทำลายเซลล์ในร่างกาย
ทั้งนี้คลอรีนเป็นที่รู้จักทั่วไปในฐานะสารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปาและน้ำในสระว่ายน้ำ นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้งในบ้านและใช้ในงานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้คลอรีนถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเคมีตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 และเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา พบการใช้แก๊สคลอรีนโจมตีหมู่บ้านในซีเรียซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ทิ้งระเบิดคลอรีนถล่มพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก
ที่มา : BBC,Reuters AP,Department of Health, New York State,National Library of Medicine, USA