ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สอบ.ค้าน "ชัชชาติ" เคาะค่ารถไฟฟ้า 59 บาท เสนอไม่เกิน 44 บาท

เศรษฐกิจ
28 มิ.ย. 65
17:07
787
Logo Thai PBS
สอบ.ค้าน "ชัชชาติ" เคาะค่ารถไฟฟ้า 59 บาท เสนอไม่เกิน 44 บาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาองค์กรของผู้บริโภคแถลงคัดค้านกรณี กทม.กำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 59 บาท ว่าเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภค ยืนยัน ขณะที่ยังอยู่ในสัญญาสัมปทาน ผู้บริโภคควรจ่ายในราคาสูงสุดไม่เกิน 44 บาท พร้อมขอให้พิจารณาราคา 25 บาทตลอดสาย เมื่อหมดอายุสัญญาสัมปทาน

จากกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ออกมาระบุถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ราคาคงเป็นไปตามข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ให้เก็บค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 59 บาท ในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และห้าแยกลาดพร้าว-คูคต

วันนี้ (28 มิ.ย.2565) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ มีจุดยืนที่ชัดเจน เรื่องการไม่ต่อสัมปทาน และการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต แต่ล่าสุด นายชัชชาติ ออกมาระบุ เพดานสูงสุดค่าโดยสาร 59 บาท ซึ่งทางสภาองค์กรของผู้บริโภคไม่เห็นด้วย เพราะผู้บริโภคต้องแบกรับภาระจ่ายค่ารถไฟฟ้าประมาณวันละ 118 บาท หากมีค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาท ต้องใช้เงินเฉพาะค่ารถไฟฟ้าเกือบร้อยละ 36


เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังเสนอ ครม.ว่า ขณะนี้สายสีเขียวยังอยู่ในสัญญาสัมปทาน ผู้บริโภคควรจ่ายในราคาสูงสุดไม่เกิน 44 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เท่ากับหรือใกล้เคียงรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่ค่าโดยสารสูงสุด 42-44 บาท

ขณะที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมเคยระบุว่า หากต่อสัญญาสัมปทานราคาค่าโดยสารควรอยู่ที่ 49 บาท 83 สตางค์ เพราะฉะนั้นหากไม่ต่อสัญญาสัมปทานราคาควรถูกลงกว่า 49 บาท ซึ่งขณะนี้เกิดวิกฤตพลังงาน คนใช้รถส่วนตัวอาจจะลดลง หาก กทม.มีนโยบายสนับสนุนรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ จะทำให้คนหันมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น


น.ส.สารี ยังเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางรางที่เคยทำตัวเลขราคาค่าโดยสาร 49 บาท 83 สตางค์ ออกมายับยั้งการกำหนดราคา 59 บาทของ กทม. พร้อมยืนยันว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่สภาองค์กรเสนอว่าราคาตลอดสายสูงสุดไม่เกิน 25 บาท เมื่อต่อสัญญาสัมปทาน สามารถทำได้จริง เพราะต้นทุนของการเดินรถอยู่ที่ประมาณ 19 บาท และ กทม.จะยังมีรายได้ที่ 23,200 ล้านบาท และเรียกร้องขอให้ตั๋วเดือนกลับมา เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและขอให้เปิดเผยสัญญาสัมปทาน รวมถึงการคิดค่าโดยสารที่ 59 บาท ว่า คำนวณมาจากอะไร

ส่วนประเด็นที่นายชัชชาติ ระบุว่าอีก 1 เดือนจะประชุมพิจารณาการต่อสัมปทานนั้น น.ส.สารี ระบุว่า ช่วงยังไม่ต่อสัญญาสัมปทาน ขอให้ใช้สิทธิตามสัญญาของบีทีเอส ให้ราคาสูงสุดที่ 44 บาท รวมส่วนต่อขยาย จนถึงปี 2572 ซึ่งเป็นปีที่หมดอายุสัมปทาน และมองว่าราคา 25 บาท สามารถทำได้จริง หลังจากหมดสัมปทานหรือวางแผนหมดสัญญา ควรให้อำนาจกลับมาที่ กทม.และหาบริษัทมาจัดการเดินรถ แต่แยกสัญญาเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเดินรถ และสัญญาเชิงพาณิชย์ เพื่อมาลดค่าโดยสารประชาชน

ล่าสุด ชัชชาติ เตรียมเข้าหารือกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในวันพรุ่งนี้ 29 มิ.ย.2565 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ วิภาวดี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง